มหาวิทยาลัยขอนแก่น จับมือ วช. ลงนามความร่วมมือกับ อบจ.มหาสารคาม ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเชิงบูรณาการ
วันที่ 31 สิงหาคม 2565 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น/ประธานมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำโดย น.ส.วราภรณ์ สุชัยชิต หัวหน้าภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม นำโดย ดร.คมคาย อุดรพิมพ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอเมืองมหาสารคาม อำเภอกันทรวิชัย อำเภอแกดำ และคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขต 7 พร้อมผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ได้ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ความร่วมมือเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ณ โรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ผ่านการขับเคลื่อนอำเภอต้นแบบ โดยได้รับเกียรติจาก นายธัญญวัฒน์ ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินงานแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือการพัฒนาและขับเคลื่อนต้นแบบในการกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ตรวจคัดกรอง รณรงค์ให้ความรู้เพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ส่งเสริมการนำหลักสูตรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อนํ้าดี ไปใช้ในโรงเรียน ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลเพื่อการตัดวงจรพยาธิใบไม้ตับ พัฒนาเครือข่ายอาหารปลอดภัย : ปลาปลอดพยาธิใบไม้ตับ และพัฒนาบุคลากรตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ น.ส.วราภรณ์ สุชัยชิต หัวหน้าภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านการแพทย์ และสาธารณสุข สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานบริหารทุนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ผ่านการขับเคลื่อนโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ที่มีเป้าหมายชัดเจน โดยหวังใช้การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมที่เกิดจากการบูรณาการสหสาขาวิชาร่วมกับพื้นที่ในการที่จะมุ่งแก้ไขปัญหาของพื้นที่อย่างจริงจังจะเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประเทศอย่างยั่งยืน จึงได้สนับสนุนทุนการดำเนินงานวิจัย ภายใต้ โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) แก่ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ปีงบประมาณพ.ศ. 2559 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยหวังผลให้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีนั้นลดน้อยลงจนกระทั่งหมดไปจากประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับ “ทศวรรษกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559 – 2568” ของกระทรวงสาธารณสุข จนบัดนี้ โครงการวิจัยดังกล่าวมีนวัตกรรมอันเป็นผลิตผลสำคัญในการแก้ไขปัญหามากมาย อาทิเช่น
1.ฐานข้อมูลขนาดใหญ่Big Data ผ่านโปรแกรม“Isan cohort”(อิสาน-โคฮอท)
2.ระบบขอคำปรึกษาสำหรับแพทย์ผู้ตรวจอัลตราซาวด์ “Tele-radio consultation”
3.การวิเคราะห์ผลอัลตราซาวด์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Ai-ultrasound)
4.การแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ “อำเภอต้นแบบ”
5.ชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-Rapid Diagnosis Test–OV-RDT) เป็นต้น
6.หลักสูตรการเรียนการสอนในการป้องกันกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในเด็กและเยาวชน
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่ง ที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว โดยเฉพาะการที่สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี จะนำนวัตกรรมที่ได้จากการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่จริง ด้วยการขยายความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม คณะกรรมคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) นี้ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ยินดีที่จะให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยขอนแก่น และหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยในทุกๆ ด้าน ที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยต่อไป”
และ ดร.คมคาย อุดรพิมพ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ได้กล่าวว่า “จังหวัดมหาสารคาม มีประชากรมากกว่า 9 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งมีโอกาสติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ จำนวนกว่า 4 แสนคน (ร้อยละ 52.4) จากการที่มีพฤติกรรมการบริโภคปลาดิบอันเป็นวิถีพื้นฐานของชาวอีสาน และการติดเชื้อดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งประชากรเกินกว่าครึ่งมีความเสี่ยงนี้ ดังนั้น โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จึงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญของจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นอุบัติการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวมหาสารคาม
องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ในฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด มีภารกิจสำคัญในการจัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการจัดการด้านการสาธารณสุข ซึ่งมีความพร้อมในทรัพยากร ทั้งงบประมาณและบุคลากร จึงมีความยินดีอย่างยิ่ง ในการร่วมเป็นภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี กับสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ภาคีเครือข่ายภาคประชาชาชน มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดีและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย การสนับสนุนงบประมาณ และการบูรณาการนวัตกรรมต่างๆ เพื่อประชากรจังหวัดมหาสารคามมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ปลอดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและอัตราการเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีให้หมดไปในที่สุด
และ นายธัญญวัฒน์ ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ได้กล่าวว่า “จากการดำเนินการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อจะค้นหาแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีที่มีสาเหตุปัจจัยหลักจากการติดพยาธิใบไม้ตับ (O.Viverrini) จากการประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) การดำเนินการที่ผ่านมาผลการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับด้วยชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับชนิดเร็ว (OV Rapid diagnosis test: OV-RDT) ทำให้ทราบถึงอุบัติการณ์การติดพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่เมื่อปีพ.ศ. 2564 เฉลี่ยกว่าร้อยละ 52.4 ใน 13 อำเภอของจังหวัดมหาสารคาม จากความชุกดังกล่าวจึงนำมาซึ่งความจำเป็นในการค้นหาโรคนี้ในระยะต้นด้วยการตรวจ คัดกรองอัลตราซาวด์ให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งได้จัดบริการในวันนี้ให้กับประชาชน พระสงฆ์ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม จึงเป็นที่มาของกิจกรรมฯ ในวันนี้ พิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) โครงการป้องกันกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่ต้นแบบ เพื่อเป็นการค้นหาและเพิ่มโอกาสทางการรักษาให้มากยิ่งขึ้น
การแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้จะยั่งยืนประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายจากหลายภาคส่วนร่วมดำเนินการ ทั้งส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมไปถึงหน่วยงานภาคประชาชนอย่างคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) และมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและร่วมกันสร้างระบบสุขภาพที่ต่อเนื่องยั่งยืน เพื่อเป้าหมายอันสูงสุดที่จะให้ “ประชาชนทุกคนมีสุขภาพที่ดี ปลอดมะเร็งท่อน้ำดี” ตามนโยบายสุขภาพของประเทศ”
จังหวัดมหาสารคาม เป็นจังหวัดที่มีอุบัติการณ์การติดพยาธิใบไม้ตับที่สูงที่สุดในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 โดยอำเภอที่ตรวจพบการติดพยาธิใบไม้ตับสูงสุดในช่วงระยะเวลา 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 คือ อำเภอเมืองมหาสารคาม คิดเป็นร้อยละ 31.25 รองลงมาคือ อำเภอกันทรวิชัย คิดเป็นร้อยละ 20.57 และอำเภอโกสุมพิสัย คิดเป็นร้อยละ 15.59 โดยผู้เข้าร่วมโครงการเป็นคนที่มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดมหาสารคามและได้รับการตรวจคัดกรองโดยการทำอัลตร้าชาวด์ จำนวนทั้งหมด 4,472 ราย พบกลุ่มเสี่ยงที่สงสัยเป็นมะเร็งท่อน้ำดีและได้รับการส่งต่อรักษา จำนวน 152 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.40 และกลุ่มดังกล่าวได้รับการตรวจยืนยันด้วยระบบเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แล้ว พบว่าเป็นมะเร็งท่อน้ำดี จำนวน 22 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.47 ของผู้เข้าร่วมโครงการ จากอุบัติการณ์ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการแก้ปัญหารูปแบบใหม่ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างความร่วมมือกันของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีการขับเคลื่อนร่วมกันในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. สร้างการรับรู้และความตระหนักในโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน
2. การสร้างความรอบรู้โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในโรงเรียน
3. การดำเนินงานเกี่ยวกับอาหารปลอดพยาธิใบไม้ตับ
4. การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับในประชาชนกลุ่มเสี่ยง
5. การคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชนกลุ่มเสี่ยง
6. การพัฒนาระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างยั่งยืน
7.การพัฒนาระบบส่งต่อเพื่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ (Clinical practice guideline)
ภาพ : วันชัย กาญจนสุรัตน์/ปณิธาน ศรีบุญเรือง
ข่าว : ปณิธาน ศรีบุญเรือง