สุดยอดเรือยาวที่มีตำนานยาวนานถึง 6 รุ่น จากเรือคำหย่อง ปี 2417 จนถึงปัจจุบันคือ เจ้าแม่บัวลอย ความภาคภูมิใจของชาวบ้านโพนสา อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย พร้อมลุยทุกสนามการแข่งขันเรือยาว ด้าน “ว่าที่ ร.ต.วิทยา” นายกเทศมนตรีตำบลโพนสา ประกาศปีนี้แข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ เทศบาลตำบลโพนสาจัดยิ่งใหญ่ให้สมกับที่ทุกคนรอคอยมานานหลายปี
ว่าที่ ร.ต.วิทยา คำพวง นายกเทศมนตรีตำบลโพนสา อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย พร้อม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 สมาชิกสภาเทศบาลตำบลโพนสา พร้อมลูกหลานบ้านโพนสา ทำพิธีอัญเชิญเจ้าแม่บัวลอยเข้าเรือ เดินทางออกจากอู่เรือช่างอ๊อด หนองดินแดง จังหวัดนครปฐม เพื่อจะออกเดินทางกลับบ้านโพนสา อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย โดยในพิธีมีเครื่องไหว้ ขัน 5 เงินค่าผ่านทาง ขอบูชาเจ้าแม่บัวลอย
ว่าที่ ร.ต.วิทยา คำพวง นายกเทศมนตรีตำบลโพนสา เปิดเผยว่า ประเพณีการแข่งเรือยาวบ้านโพนสาสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน จากรุ่นต่อรุ่นที่ชาวบ้านโพนสาได้อนุรักษ์และสืบทอดกันมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน ที่นำทั้งความภาคภูมิใจ ความเศร้าโศกเสียใจมาให้ระคนกันไป ในแต่ละสนาม สำหรับการแข่งขันแต่ละครั้ง แต่ละสนามที่ได้รับทราบหรือที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อฝีพายบ้านโพนสาไปแข่งขันเรือยาวที่ใด บ้านโพนสาแทบทุกหลังคาเรือนจะปิดบ้าน แทบจะไม่มีผู้คนให้เห็นก็ว่าได้ ต่างพากันมุ่งหน้าไปเชียร์เรือยาวของตน จากการสอบถามประวัติความเป็นมาของเรือยาวบ้านโพนสานั้น สรุปพอสังเขปได้ดังนี้
สำหรับ ประวัติเรือยาวบ้านโพนสา (ปัจจุบันคือเรือเจ้าแม่บัวลอย) จากการสอบถามปราชญ์ผู้รู้ ผู้อาวุโส ของหมู่บ้านสามารถสืบค้นได้ดังนี้ เรือยาวบ้านโพนสานั้น มีอายุยาวนานมากว่าร้อยปี นับเป็นรุ่นได้ถึง 6 รุ่น ด้วยกัน ดังจะได้กล่าวเป็นลำดับไป
เรือลำแรก คือเรือคำหย่อง อยู่ราว ปี พ.ศ. 2417-2442
เรือ อีคำหย่องหรือมักเรียกว่าอีคำหย่อง ซึ่งเป็นเรือยุคเดียวกันกับเรือคำหยาด ของชาวกวนวัน อำเภอเมือง หนองคาย สัณนิฐานว่าน่าจะอยู่หลัง ปี พ.ศ. 2370 ในราว พ.ศ. 2417-2442 (จากหนังสือ เกียรติยศหนองคาย เพื่อคนหนองคาย ฯพณฯ ท่านพินิจ จารุสมบัติ, เรือคำหยาด หน้า 212-215 : 2540 ) เป็นเรือเก่าที่ซื้อมาจากอำเภอเมืองหนองคาย แล้วนำมาซ่อมแซมจนสามารถนำไปแข่งขันได้หลาย ๆ สนาม รุ่นฝีพายในยุคนั้นมี พ่อตู้ดี เป็นนายหัว และมีพ่อตู้บุบผา สัมพันธะ (พ่อของพ่อตู้โสมซึ่งชาวบ้านมักจะเรียกชื่อบุคคลดังกล่าวว่า พ่อตู้โสม คือมักจะเรียกชื่อลูกชายของคนๆ นั้น ) เป็นนายท้าย และเป็นปู่ของนายกอง สัมพันธะ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน) ต่อมานายโสม ผู้ลูกของนายบุบผา ก็ดำเนินชีวิตตามแบบผู้พ่อ คือเป็นนายท้ายให้กับเรืออีสองร้อย สร้อยสังวาลย์ในเวลาต่อมา จากการบอกเล่ามานั้น เรืออีคำหย่อง จะไม่ค่อยได้ลงสนามมากนักเพราะอยู่ในช่วงภาวะสงครามจะเป็นทั้งสงครามโลก ครั้งที่สองก็ดี สงครามอินโดจีนก็ดี และได้ทราบว่าซากเรือเก่าของเรืออีคำหย่องนั้น นำไปแปรสภาพเป็นไม้กระดานรองพื้นกุฏิสงฆ์วัดท่า หรือวัดทวยราษฎร์ที่ถูกน้ำกัดเซาะไปแล้วในอดีต
เรือลำที่สอง คือเรือสองร้อย สร้อยสังวาลย์ อยู่ราว ปี พ.ศ. 2442-2474
เรือ ลำนี้ น่าจะเกิดขึ้นราว ปี พ.ศ. 2442-2474 จุดเด่นของเรือลำนี้คือ เวลาแข่งขันที่ไหนมักจะหาตัวจับยาก ฝีพายก็เป็นชาวโพนสาล้วน กวาดรางวัลมามากมาย ประกบคู่สนามไหนมักจะได้เปรียบคู่แข่งขันเสมอ ข้อสำคัญสำหรับเรืออีสองร้อย สร้อยสังวาลย์นี้ก็เกิดขึ้นมาในช่วงสงครามเช่นเดียวกันกับเรืออีคำหย่องจึง มักจะห่างเหินสนามเช่นกัน แต่เมื่อใดที่เรือลำนี้ได้ลงสนาม เรือลำนี้ก็จะไม่ทำให้ชาวโพนสาผิดหวังเลย สำหรับฝีพายยุคนั้น พ่อตู้โสม พ่อตู้เต็ง พ่อตู้จูม และพ่อตู้คำไหว สลับกันเป็นนายท้าย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันในแต่ละสนาม และมีพ่อตู้สวน รวมทั้งพ่อตู้สีนวล เป็นนายหัว
เรือลำที่สาม คือเรืออีคำม่วง อยู่ราว ปี พ.ศ. 2474-2496
เรือ ลำนี้ได้ซื้อมาจากอำเภอเมืองหนองคาย น่าจะประมาณเมื่อปี พ.ศ. 2474-2496 มีความโดดเด่น คือเคยเข้าไปร่วมการแข่งขันงานแข่งเรือของกำแพงนครเวียงจันทน์ที่ประเทศลาว และได้ถ้วยรางวัลหรือขันเงินจากเวียงจันทน์ นับว่าได้สร้างความภาคภูมิใจ ถือเป็นเกียรติและศักดิ์ศรีของชาวบ้านโพนสาเป็นอย่างมาก สำหรับยุคสมัยนั้น มีพ่อตู้สวน และพ่อตู้คำ เป็นนายหัว และมีพ่อตู้ที คำดี และพ่อตู้สี เป็นนายท้าย
เรือลำที่สี่ คือเรืออีเทิบยอก อยู่ราว ปี พ.ศ. 2496-2506
เรือ ลำนี้ น่าจะอยู่ราว ปี พ.ศ. 2496-2506 เป็นเรือลำที่ชาวโพนสาไม่ค่อยได้รางวัลอะไรมากมายนัก หรือแทบจะไม่มีรางวัลติดไม้ติดมือกลับบ้านในการเข้าร่วมการแข่งขันในแต่ละ สนามก็ว่าได้ หรืออาจจะเป็นยุคที่ฝีพายชาวโพนสาไม่ค่อยประสบผลสำเร็จได้รับรางวัลเหมือน กับยุคที่ผ่าน ๆ มาก็ว่าได้ แต่จะว่าไปแล้วก็เป็นการดูถูกเรือลำนี้มากเกินไปเพราะครั้งหนึ่ง เรืออีเทิบยอกได้เข้าร่วมการแข่งขันที่บ้านจอมแจ้ง ประเทศลาว ได้รับตะเกียงเจ้าพายุเป็นถ้วยรางวัลกลับมาที่บ้านโพนสาด้วย สำหรับฝีพายเรืออีเทิบยอก ในยุคนี้ประกอบด้วยฝีพายที่จำได้คือนายบัว กองพิลา นายสมพงษ์ บุญเกิด นายกเทศมนตรีตำบลโพนสาในปัจจุบันนี้ด้วย มีนายวันดี แก้วเนตร เป็นนายท้าย ส่วนนายหัวนั้น คือนายบุญตา ยาพรม และมีรองนายหัว คือนายไข่ จันดา
เรือลำที่ห้า คือเรืออีจันทร์หอม อีจอมใจ (เทพประดิษฐ์ และเทพนาวา)อยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2517 – 2542
จาก การบอกเล่าของท่านพระครูมงคลญาณ วัดเทพมงคล บ้านโพนสา ถึงสาเหตุของการเว้นระยะการแข่งขันเรือยาวบ้านโพนสา ตั้งแต่ พ.ศ. 2506-2517 เกิดจากฝีพายบ้านโพนสาออกไปรับจ้างเป็นฝีพายตามหมู่บ้านอื่น ๆ รวมทั้งฝั่งประเทศลาวด้วย จึงทำให้บ้านโพนสาขาดฝีพาย ต่อมาในปีพ.ศ. 2517 จึงได้มีการประชุมเพื่อจัดหาเรือประจำหมู่บ้านขึ้นอีกครั้ง และผลการประชุมจึงตกลงที่จะจัดให้มีเรือยาวโดยชาวโพนสาจัดทำเองไม่ต้องซื้อ จากไหน ดังนั้น เรือลำต่อมาชื่อว่า จันทร์หอม จอมใจ หรือเทพประดิษฐ์ และเทพนาวา อยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2517 ? 2542 ถือว่าเป็นรุ่นที่ห้าของฝีพายบ้านโพนสาที่สืบทอดต่อกันมา เรือจันทร์หอม จอมใจนี้ ถือว่าเป็นเรือที่ชาวโพนสาภาคภูมิใจมากที่สุดก็ว่าได้ เป็นเรือที่ชาวโพนสาไม่ได้ซื้อมาจากไหน ชาวโพนสาทำเอง โดยว่าจ้างช่างแหมบ ที่เป็นช่างมาจากบ้านผักกาดย่า จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นคนทำ ถือว่ายุคนี้เป็นยุคเฟื่องฟูหรือยุคทองในการกวาดเก็บถ้วยรางวัลจากหลาย ๆ สนาม หรือแทบทุกสนามที่ฝีพายจากบ้านโพนสา จะต้องนำถ้วยรางวัลกลับมาด้วยแทบทุกครั้ง เพราะเรือสองลำนี้ผลัดกันได้ที่หนึ่งหรือที่สองในหลาย ๆ สนาม และที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งคือฝีพายของเทพนาวาหรือเรืออีจอมใจ ได้รับรางวัลถ้วยชนะเลิศจาก ฯพณฯ ท่านคึกฤทธิ์ ปราโมท นายกรัฐมนตรี สำหรับฝีพายในรุ่นนี้ประกอบด้วย นายสมพงษ์ บุญเกิด นายกเทศมนตรีตำบลโพนสาในปัจจุบันนี้ รวมทั้งนายผง บุญชู อดีตกำนันและนายกเทศมนตรีตำบลโพนสา นายแก่น ชาคำมี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 โดยมีนายหัวคือ นายบัวทอง สัมพันธะ และนายบุญตา ส่วนนายท้ายนั้นประกอบด้วย นายไข่ และนายสลัด อุปพร นายตัน นายเพ้า และนายเสาร์ ทำหน้าที่สลับผลัดเปลี่ยนกันในแต่ละสนาม
เรือลำที่หก คือเรือเจ้าแม่บัวลอย ปี 2542 – ปัจจุบัน
ซื้อ มาเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2542 จนถึงปัจจุบัน เรือลำนี้ได้ซื้อมาจากบ้านศรีสะอาดชมภู เมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในราคา 280,000 บาท ซึ่งว่าที่ร้อยตรีวิทยา คำพวง นายกเทศมนตรีในปัจจุบัน (สมัยยังเป็นวิศวกรควบคุมงานอยู่ในฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ได้พาบรรดาคณะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้อาวุโสและชาวบ้านโพนสาไปซื้อเรือยาวลำนี้ที่ประเทศลาว ถือว่าเป็นรุ่นที่หกหรือรุ่นปัจจุบันที่ฝีพายชาวบ้านโพนสา ได้ประกาศศักดาให้บรรดาฝีพายจากแถบลุ่มแม่น้ำโขงด้วยกันทราบถึงกิตติศัพท์ อันเลื่องลือไกล ว่าฝีพายเจ้าแม่บัวลอยนั้นไม่เป็นสองรองใครในแถบลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะฝีพายในท้องถิ่นนั้นยากนักที่ใครๆ จะต่อกรกับฝีพายของเจ้าแม่บัวลอยได้ ดังปีที่ผ่านมาคือปี พ.ศ. 2548 นั้น ฝีพายเจ้าแม่บัวลอยกวาดถ้วยรางวัลชนะเลิศได้เป็นจำนวนมาก และถ้วยรางวัลที่ชาวโพนสาได้ภาคภูมิใจที่สุดคือ สามารถป้องกันแชมป์ในถิ่นหรือสนามของตนเอง คือได้ รับถ้วยรางวัลชนะเลิศของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และในปี พ.ศ. 2549 เทศบาลตำบลโพนสา ได้ดำเนินการจัดงานประเพณีแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นปีแรก และครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2549 ไว้ได้สำเร็จ ในปี พ.ศ.2551 คือวันที่ 16 กันยายน 2551 ทีมเจ้าแม่บัวลอยจะสามารถป้องกันแชมป์ถ้วยพระราชทาน ฯ ในบ้านตนเองได้หรือไม่ จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนโพนสาช่วยเป็นกำลังใจให้กับขุนศึกเจ้าแม่บัวลอย ในการป้องกันแชมป์ต่อไป
“สำหรับการจัดการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ ในปีนี้ จะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคม โดยเทศบาลตำบลโพนสาจัดอย่างยิ่งใหญ่ให้สมกับที่ทุกคนรอคอบมานาน” นายกเทศมนตรีตำบลโพนสากล่าว.