สุดทน ชาวนาโคราช 3 อำเภอ ยื่นฟ้องกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำพลาด แหล่งทำกินเสียหายกว่า 30 ล้าน จี้เยียวยาขอความเป็นธรรม

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 กันยายน ที่ศาลปกครองนครราชสีมา นายวีรวิทย์ เชื้อจันอัด อายุ 42 ปี เจ้าของฟาร์มแช่มชื่นโฮมสเตย์ ต.ตาจั่น อ.คง จ.นครราชสีมา พร้อมพวกซึ่งเป็นเกษตรกรในพื้นที่ อ.คง อ.พิมาย และอ.โนนสูง จำนวน 11 ราย ในฐานะผู้ฟ้องคดีได้นัดรวมตัวนำเอกสารหลักฐานภาพถ่ายยื่นฟ้องกรมชลประทานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย กรณีกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำผิดพลาด ทำให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่บ้านพักอาศัยและแปลงเกษตรกรรม ได้รับความเสียหาย รวมมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท โดยถือป้ายข้อความระบุว่า “ ขอความเป็นธรรมจากศาลปกครองให้ชาวนา จากความผิดพลาดในการจัดการน้ำของเขื่อนลำเชียงไกร โปรดช่วยเราด้วย” “โปรดช่วยเยียวยาด้วย รอมาเป็นปีแล้วแต่หายเงียบและเงียบหาย กรมชลประทานไม่รับผิดชอบ” โดยมีนายฉัตรชัย เอมราช ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 259-269/2565

นายวีรวิทย์ ฯ เปิดเผยว่า พื้นที่แหล่งทำกินของผู้ฟ้องคดีตั้งอยู่นอกเขตประกาศแจ้งเตือนภัย เมื่อเกิดเหตุอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง อ.โนนไทย ทรุดเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้น้ำไหลทะลักท่วมฟาร์มปลาทับทิมขนาด 20 ตัน กุ้ง 5 ตัน รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องจักรกล บ้านเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ได้รับความเสียหาย สาเหตุเกิดจากการบริหารจัดการน้ำผิดพลาดส่งผลให้ประชาชนที่มีที่บ้านและทำกินตั้งอยู่ท้ายอ่าง ฯ ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ประชาชนเป็นผู้เสียภาษีต้องสิ้นเนื้อประดาตัวมีภาระหนี้สินจำนวนมาก จึงต้องพึ่งศาลปกครองดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งยังมีผู้ได้รับความเดือดร้อนกว่า 100 ราย ไม่กล้าออกมาต่อสู้และบางรายอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานยื่นฟ้องเรียกร้องขอความเป็นธรรม ก่อนหน้านี้ตนและพวกได้พยายามเรียกร้องตามสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยกรมชลประทานได้บ่ายเบี่ยงเลี่ยงบาลีมาตลอด

ด้านนางจำรัส เข็มณรงค์ อายุ 64 ปี ชาว ต.กระเบื้องใหญ่ อ.พิมาย กล่าวว่า นาข้าว 20 ไร่ ของตนอยู่นอกเขตพื้นที่แจ้งเตือนภัยน้ำท่วม เมื่อเกิดอุทกภัยจะได้รับผลกระทบทุกครั้ง ล่าสุดกำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแต่ถูกมวลน้ำทำลายเสียหายกว่า 2 แสนบาท จึงเดือดร้อนมาก แม้นว่าที่ผ่านมาได้รับการเยียวยาจากภาครัฐแต่ไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเดือดร้อนพร้อมบูรณาการร่วมกันป้องกันปัญหาที่เกิดซ้ำซาก

แสดงความคิดเห็น