มูลนิธิคณะภคินีศรีชุมพาบาลประเทศไทย โดยมูลนิธิภคินีศรีชุมพาบาลหนองคาย จัดพิธีมอบป้ายศูนย์เฝ้าระวังความรุนแรงในชุมชน และรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และการป้องกันการค้ามนุษย์ ประจำปี 2565
เมื่อช่วงบ่ายวันที่ (25 พ.ย. 65)ณ ลานวัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำโขง หน้าวัดลำดวน อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในพิธีมอบป้ายศูนย์เฝ้าระวังความรุนแรงในชุมชนและรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และการป้องกันการค้ามนุษย์ ประจำปี 2565 ที่มูลนิธิคณะภคินีศรีชุมพาบาลประเทศไทย โดยมูลนิธิภคินีศรีชุมพาบาลหนองคาย จัดให้มีขึ้น
ซิสเตอร์จินตนา พิมสาร ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งคณะกรรมการเฝ้าระวังระดับชุมชน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรี มูลนิธิภคินีศรีชุมพาบาลหนองคาย กล่าวว่ามูลนิธิคณะภคินีศรีชุมพาบาลประเทศไทย (Good Shepherd Thailand: GST) ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรี และมุ่งมั่นทำงานช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผล กระทบจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ซึ่งมูลนิธิฯ มีพื้นที่ทำงานใน 6 จังหวัด ได้แก่กรุงเทพฯ หนองคาย ชลบุรี (พัทยา) เชียงราย เชียงใหม่ และภูเก็ต ทางมูลนิธิฯ ได้ริเริ่มดำเนินโครงการฯ โดยมีซิส เตอร์ และเจ้าหน้าที่มูลนิธิภคินีศรีชุมพาบาล ในแต่ละพื้นที่ เป้าหมายเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2566
การดำเนินการตามโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งคณะกรรมการเฝ้าระวังระดับชุมชน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรี มูลนิธิภคินี ศรีชุมพาบาล ที่มีการบริหารจัดการโดยชุมชนเพื่อชุมชน ซึ่งมีคณะกรรมการศูนย์เฝ้าระวังความรุนแรงในชุมชน จำนวน 5 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์กองนาง อ.ท่าบ่อ , ศูนย์คอกช้าง อ.สระใคร , ศูนย์สระใคร อ.สระใคร , ศูนย์สีกาย อ.เมือง , ศูนย์หินโงม อ.เมืองหนองคาย และศูนย์พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อคุ้มครองเด็กและสตรีจากความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมทั้งการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ และการค้ามนุษย์ เพื่อประสานงานและประชุมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน องค์กรชุมชน ผู้นำชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งกลุ่มสตรีและเยาวชน เพื่อจัดตั้งหรือเสริมสร้างความเข้มแข็งคณะกรรมการเฝ้าระวังระดับชุมชน เพื่อเป็นกลไกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรี เพื่อเสริมศักยภาพและจัดอบรมให้ความรู้แก่คณะกรรมการเฝ้าระวังในชุมชนเรื่องการแจ้งเบาะแส การรายงาน และการส่งต่อเคส รวมทั้งการจัดประชุมรายไตรมาสเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรง หาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรีในชุมชน และเพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักในชุมชนร่วมกับคณะกรรมการเฝ้าระวังในชุมชนเรื่องสิทธิสตรี ความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการเฝ้าระวังในชุมชนอย่างยั่งยืน
การจัดงานในครั้งนี้ มีหน่วยงานเข้าร่วมจำนวน 40 หน่วยงาน โดยมีผู้เข้าร่วมงาน จำนวนทั้งสิ้น 1,300 คน.