
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 9 ธันวาคม ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา นางสุกัญญา กัตนภัทรา พร้อมพวก 30 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านพื้นที่ ต.โนนไทย อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ได้เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการดำเนินโครงการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนด้วยการนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า” ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เมืองคง อ.คง จ.นครราชสีมา พร้อมถือป้ายไวนิลข้อความ “เราไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ” “เราพร้อมเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อลูกหลานเรา ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด” และได้ส่งเสียงโห่ร้องไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ ต่อมาเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมเป็นตัวแทนนายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครราชสีมา ได้มารับหนังสือร้องเรียนจากนั้นได้แสดงจุดยืน สัญลักษณ์ไม่เอา “ชาวโนนไทย ไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ” โดยมาถือป้ายที่บริเวณหน้าสนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมาและลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ก่อนจะเดินทางกลับ

นางสุกัญญา เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีบริษัทเอกชนสำรวจและพยายามขอจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ชาวบ้านเกรงผลกระทบทางมลพิษและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ใน ซึ่งพื้นโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในเขต ต.โนนไทย ใกล้ชุมชนและแหล่งน้ำสาธารณะที่ใช้อุปโภค บริโภค จึงขอให้ ผวจ.นครราชสีมา พิจารณาและมีคำสั่งให้ยกเลิกโครงการนี้ด้วย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 ธ.ค ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ แต่ลักไก่จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นที่หอประชุมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบล (ทต.) โนนไทย โดยมีชาวบ้านกว่า 100 คน รับการชี้แจงการดำเนินโครงการของ อบต.เมืองคง ร่วมกับบริษัทเอกชน ขณะเปิดรับฟังความคิดเห็นได้มีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่เป็นห่วงอนาคตของบุตรหลานแสดงความไม่พอใจลุกขึ้นชูป้ายประท้วงและส่งเสียงโห่ร้อง จากนั้นได้พากันเดินออกออกจากหอประชุมโดยไม่ได้ลงประชามติ ทำให้การประชุมต้องยุติโดยปริยาย ล่าสุดเมื่อช่วงสายวันนี้ ได้มีการประชุม สภา อบต.โนนไทย ในระเบียบวาระขอความเห็นชอบทบทวนมติที่ประชุมสภา อบต.โนนไทย สมัยสามัญ สมัยที่ 4 ครั้งที่ 1 เรื่องขอความเห็นชอบให้ อบต.เมืองคง ดำเนินโครงการ ฯ ที่บ้านดอนทะยิง หมู่ที่ 8 หรือ บ้านสระจระเข้ หมู่ที่ 13 ต.โนนไทย แต่การประชุมไม่ราบรื่นส่อให้เห็นความไม่ชอบมาพากล กลุ่มผู้คัดค้านจึงนัดรวมตัวเดินทางมายื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามดำเนินโครงการในพื้นที่ อบต.เมืองคง อ.คง แต่ชาวบ้านคัดค้านจนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ จึงมาขอใช้พื้นที่ อบต.โนนไทย ก่อสร้างโรงงานแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ 120 ไร่ งบ 1,800 ล้านบาท เพื่อรองรับขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใกล้เคียงรวม 128 แห่ง ปริมาณขยะมูลฝอยกว่า 500 ตันต่อวัน

แสดงความคิดเห็น