ลูกหนี้จะคุยกับเจ้าหนี้อย่างไร ให้อยู่รอด?

ลูกหนี้จะคุยกับเจ้าหนี้อย่างไร ให้อยู่รอด?

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนที่กำลังตั้งใจทำงานเพื่อจะเก็บเงิน
ให้ได้มาก อาจไม่สามารถเก็บเงินได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ส่วนคนที่คิดว่าจะมีรายได้เข้ามาเป็นปกติเหมือนเดิมแต่บังเอิญไปสร้างหนี้ไว้ และคาดไม่ถึงว่าผลของการแพร่ระบาดจะทำให้มีรายได้ลดลง และ
หลายคนอาจถึงขั้นตกงานไม่มีงานทำแต่ยังมีหนี้ที่ต้องรับผิดชอบทั้งๆที่พยายามลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นแต่ก็ยังไม่พอสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแถมยังไม่พอที่จะผ่อนชำระหนี้และคิดไม่ตกว่าจะบรรเทาภาระหนี้ได้อย่างไร

ในสถานการณ์อย่างนี้ลูกหนี้หลายคนไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร บางคนไม่อยากเจอเจ้าหนี้ บางคนคิดว่าจะหนีหนี้ไปเลย ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่ดี ทางออกที่อยากจะบอกคือ การเข้าไปคุยกับเจ้าหนี้เพื่อตกลงหาทางแก้ไขแบ่งเบาการชำระหนี้ที่เหมาะที่สุดสำหรับตัวเรา และจะทำให้เราอยู่รอดต่อไปได้ในช่วงเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้จำนำทะเบียนรถ หรือหนี้บัตรต่าง ๆ ก็สามารถไปคุยกับเจ้าหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ด้วยวิธีการ 5 อย่าง ดังนี้ครับ

วิธีแรกที่จะแนะนำในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้คือ การขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป วิธีนี้ใช้สำหรับคนที่เป็นหนี้บ้าน และ หนี้รถยนต์ เช่น เดิมต้องผ่อนบ้าน 20 ปี ขอเปลี่ยนเป็นผ่อน 25 ปี หรือ
ผ่อนรถยนต์ 60 งวด ขอผ่อนเพิ่มขึ้นเป็น 72 งวด วิธีนี้จะทำให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนน้อยลง เราก็จะพอมีเงินเหลือไปใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่วิธีนี้รวม ๆ แล้วจะเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากการที่เรามีระยะเวลาผ่อนนานขึ้นนั่นเอง

หากลูกหนี้เห็นว่าการไปขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ยังไม่เหมาะกับตัวเองเพราะระยะเวลาของการเป็นหนี้จะนานขึ้น แถมยังรู้สึกเสียดายที่ต้องจ่ายก้อนของดอกเบี้ยมากขึ้น ก็สามารถใช้วิธีที่สอง คือ ขอพักชำระเงินต้นชั่วคราว เป็นการที่เราไม่ต้องจ่ายเฉพาะเงินต้นแต่ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่สถาบันการเงินจะให้พักชำระเงินต้นประมาณ 3-6 เดือนเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้ใช้ได้กับหนี้ทุกประเภทเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้จำนำทะเบียนรถ หรือหนี้บัตรต่าง ๆ ผลจากการขอพักชำระเงินต้นนี้จะช่วยลดภาระการผ่อนได้ค่อนข้างมากเพราะเราเหลือจ่ายเฉพาะในส่วนของดอกเบี้ย แต่ก็ต้องแลกกับยอดหนี้ที่เป็นเงินต้นไม่ได้ลดลง นั่นหมายถึงว่าเราจะหมดหนี้ช้าลง และเสียดอกเบี้ยทั้งหมดเพิ่มขึ้นอีกด้วย ขอแนะนำว่าถ้ามีเงินแล้วขอให้มาชำระอย่าพักนาน

วิธีที่สาม คือ การเปลี่ยนประเภทหนี้ เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับกลุ่มเป็นหนี้บัตร ทั้งประเภทหนี้บัตรเครดิต (ดอกเบี้ย 16% ต่อปี) บัตรกดเงินสด (ดอกเบี้ย 25% ต่อปี)  สามารถคุยกับเจ้าหนี้ว่าต้องการเปลี่ยนหนี้บัตรต่างๆให้เป็นหนี้ส่วนบุคคลหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีระยะเวลายาวขึ้นซึ่งจะทำให้เสียอัตราดอกเบี้ยถูกลงกรณีนี้ถ้าเป็นเจ้าหนี้รายเดียวกันก็จะทำได้ไม่ยุ่งยากและวิธีนี้เราจะสามารถลดภาระหนี้จากการผ่อนชำระในส่วนของก้อนดอกเบี้ยได้ค่อนข้างมากเพราะจะสามารถลดอัตราดอกเบี้ยจากสองหลักให้เหลือเพียงหลักเดียวเลยทีเดียว

หากเราเป็นลูกหนี้ที่ดีสามารถจ่ายครบตรงเวลามาตลอด แต่ตอนนี้ประสบปัญหาจากโควิด 19 ลองมาใช้วิธีที่สี่ด้วยการยื่นข้อเสนอต่อเจ้าหนี้ว่า ขอลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งสามารถคุยกับเจ้าหนี้ได้ทุกประเภทหนี้ แต่อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่เจ้าหนี้อาจยื่นข้อเสนอบางอย่างก่อนลดดอกเบี้ย เช่น ให้จ่ายหนี้บางส่วนก่อนซึ่งผลที่ลูกหนี้ได้รับจากวิธีนี้คือผ่อนเงินต้นเท่าเดิมแต่ผ่อนดอกเบี้ยลดลงส่วนระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้ยังคงเท่าเดิม

วิธีสุดท้ายสำหรับกรณีลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้และมีดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ด้วยก็สามารถ ขอให้เจ้าหนี้ไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ โดยไปเจรจาพูดคุยได้กับเจ้าหนี้ทุกประเภท วิธีนี้จะช่วยให้เราลดรายจ่ายจากการผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่ว่าจะเป็นค่าทวงถามหนี้ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ แต่ยังต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญาต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้ว่าลูกหนี้ไปเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินได้แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือการจะเป็นหนี้ได้นั้น ควรเกิดจากการวางแผนบริหารจัดการหนี้ที่ดี สำรวจตัวเองว่าพร้อมจะเป็นหนี้และสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามกำหนด ถึงแม้ว่าอนาคตจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น อย่างเช่นการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในครั้งนี้ แต่เราก็ยังสามารถชำระหนี้ได้อย่างไม่เดือดร้อน ดังนั้น หากเราคิดจะเป็นหนี้แล้ว ควรเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการหนี้อยู่เสมอ เพื่อให้เราอยู่รอดได้ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์แบบไหน เราก็จะถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดีแล้วครับ

———————————————————————————————————————————

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

นายทัศนัย  ธรรมวงษา
Tasanait@bot.or.th

เจ้าหน้าที่งานบริหารอาวุโส ส่วนเศรษฐกิจการเงินภาค 2

 

แสดงความคิดเห็น