นทท.แห่ถ่ายรูปสถานีรถไฟโคราช ก่อนทุบสร้างสถานีไฮสปีด ประภัสร์ อดีต ผว.รฟท. แนะมีวิธีเลี่ยงไม่ต้องทุบ สถาปนิกอีสาน ขอผู้มีอำนาจอนุรักษ์ไว้

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่สถานีรถไฟนครราชสีมา สถานที่จัด “นิทรรศการรำลึกสถานีรถไฟโคราช 122 ปี” โดยกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน กลุ่มคนรักรถไฟโคราชและภาคีอนุรักษ์เมืองเก่าร่วมกันจัดขึ้นเพื่อให้ผู้ที่มีความรักความผูกพันรถไฟไทย คนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจได้มีโอกาสถ่ายรูปเก็บบันทึกความทรงจำและรับรู้ประวัติศาสตร์สถานีแห่งนี้ก่อนถูกทุบทิ้งรวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและเตรียมเป็นปฏิทินท่องเที่ยวเมืองโคราช โดยจัดในวันที่ 21-25 ธ.ค นี้

บรรยากาศของวันที่ 4 พบนักท่องเที่ยวซึ่งมีการแต่งกายย้อนยุคและบรรดาวัยรุ่นที่ทราบข่าวการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำหนดแผนปี 66 ให้ผู้รับจ้างรื้อถอนโครงสร้างอาคารสถานีหลังปัจจุบัน เนื่องจากตั้งอยู่ในแนวเขตแผนพัฒนาระบบราง เพื่อก่อสร้างอาคารสถานีรถไฟหลังใหม่ รองรับการใช้บริการขนส่งโดยสารรถไฟความเร็วสูงและทางคู่ได้เดินทางมาถ่ายรูปเซลฟี่ตามมุมต่างๆ ที่ได้จำลองบรรยากาศการเปิดเส้นทางรถไฟ ร.ศ.119 โดยเฉพาะที่ตั้งรถจักรไอน้ำเลขที่ 261 ริม ถ.มุขมนตรี ซุ้มหัวรถจักรประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้าดาเวนปอร์ต รุ่น 500 แรงม้า หมายเลข 535 จอดอยู่บนชานชาลาที่ 1 การประดับธงช้างเผือกตามชานชาลารถไฟ การจัดบูธกรมรถไฟหลวง การจัดแสดงหนังสือหายาก สิ่งของเครื่องใช้ยุคกรมรถไฟ โมเดลรถไฟไทยกันอย่างคึกคัก โดยมีซาตาคลอสนำขนม ของเล่นมาแจกจ่ายให้เด็กเยาวชนรวมทั้งจิตอาสาแต่งกายเครื่องแบบทหารสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาสร้างสีสัน ท่ามกลางความสนุกสนานและอากาศเย็นสบายเหมาะแก่การเดินเที่ยวชมพร้อมถ่ายรูปซิลๆ รวมทั้งแวะชิมและเลือกซื้ออาหาร ขนมโบราณเป็นของฝาก

นายวีรพล จงเจริญใจ นายกกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน เปิดเผยว่า แนวคิดการจัดกิจกรรมพวกเรามิได้คัดค้าน แต่ของเก่าต้องอยู่ของใหม่ต้องมี เนื่องจากสถานีรถไฟโคราชมีประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยวันที่ 21 ธ.ค ตรงกับวันที่ 21 ธ.ค ร.ศ 119 หรือ พ.ศ 2443 ครบรอบ 122 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งจากสถานีกรุงเทพมหานครถึงสถานีโคราช (มณฑลนครราชสีมา) เป็นปฐมฤกษ์การเปิดเส้นทางรถไฟ กรุงเทพ-นครราชสีมา สายแรกของประเทศไทย ต่อมาช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวอาคารถูกเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดจนได้รับความเสียหายจึงได้ก่อสร้างอาคารหลังใหม่ โดยเปิดใช้งาน พ.ศ 2498 และในปีเดียวกันในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชีนีทรงประทับรถไฟพระที่นั่งโดยรถจักรดีเซลไฟฟ้าดาเวนปอร์ต หมายเลข 535 มาลงที่สถานีรถไฟนครราชสีมา เพื่อทรงเยี่ยมพสกนิกร เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลอีสานนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวโคราช

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับต้องการและความคิดเห็นของประชาชน หากมีข้อตกลงร่วมกันต้องการอนุรักษ์สถานีรถไฟโคราช ก็ต้องร่วมแรงร่วมใจกันบอกกล่าวผู้มีอำนาจ โดยนำเสนอแนวทางการอนุรักษ์ มุมมองของสถาปนิกในประเด็นของสถาปัตยกรรมสามารถออกแบบหรือพัฒนาปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับโครงสร้างนวัตกรรมการพัฒนายุคใหม่ได้โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ตราบใดยังไม่ถูกทุบ ชาวโคราชและผู้ที่รักประวัติศาสตร์รถไฟยังมีโอกาสที่จะอนุรักษ์สถานีแห่งนี้ได้ ซึ่งยังไม่สายหรือช้าเกินไป

ด้านนายประภัสร์ จงสวงน อดีตผู้ว่า รฟท. กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยปฏิบัติหน้าที่และคลุกคลีในวงการระบบราง ขอยืนยันการก่อสร้างสถานีใหม่สามารถดำเนินการเสร็จสิ้นโดยไม่มีปัญหาอุปสรรคด้านข้อกำหนดเวลาแต่อย่างใด เว้นมีเจตนาหรือเป้าหมายอื่น การออกแบบสถานีไฮสปีดสามารถหลีกเลี่ยงโดยไม่ต้องทุบของเก่าที่มักอ้างอยู่ในแนวเขตการพัฒนาระบบราง โปรดอย่ามองสถานีรถไฟโคราชเป็นเพียงเศษอิฐเศษปูนต้องถูกเก็บอนุรักษ์ไว้เป็นประวัติศาสตร์ในการวิวัฒนาการของระบบรางประเทศไทยและความภาคภูมิใจของคนไทย ซึ่งรูปแบบสถานนี้เดิมถือเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความเป็นมาเป็นไป เพื่อให้คนไทยรับรู้เมื่อ 122 ปีที่แล้ว สร้างความภาคภูมิใจรู้สึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเปิดการเดินรถไฟสายแรกของประเทศไทย

แสดงความคิดเห็น