ปลายปีอย่างงี้ เราก็จะต้องมีการพูดถึงเทร็นด์พฤติกรรมผู้บริโภคในปีต่อไป เพื่อให้นักธุรกิจการตลาดได้เตรียมตัวจับทิศทางและแปลเทร็นด์เหล่านั้นให้เป็นโอกาสทางธุรกิจให้ได้ บริษัท เทร็นด์วอชชิ่ง พูดถึงแนวโน้มที่สำคัญในเอเชียปี 2018 ซึ่งดิฉันจะเอามาเล่าแค่บางส่วน
อันดับแรกเลย คือ การรวมตัวกันของสองกระแสใหญ่คืออีคอมมเมิร์สกับการถ่ายทอดสดหรือไลฟ์สตรีมมิ่งจะหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เทร็นด์ตรงนี้ไม่แปลกเพราะตั้งแต่แรกๆที่เฟสบุคเปิดให้ถ่ายทอดสด พ่อค้าแม่ค้าไทยก็ได้โอกาสเปิดเป็นหน้าร้านขายของผ่านเฟสบุคไลฟ์ แต่จะแพร่หลายมากขึ้นยิ่งไปอีก ในปี 2017 พบว่าปริมาณการค้าขายของอีคอมเมิร์ส 30 เปอร์เซ็นต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มต้นที่โซเชียลมีเดียแล้วปิดการขายสมบูรณ์ด้วยแอพเมสเสจจิ้ง อันนี้ชัดค่ะ บ้านเรา ก็จะเปิดการขายด้วยเฟสบุค อินสตาแกรม แต่ปิดการขาย โอนเงิน จัดส่งจนการซื้อขายสมบูรณ์ด้วยไลน์ คนเอเชียมักจะอาศัยอ่านฟังสิ่งที่คนพูดในสื่อโซเชียลสนับสนุนการตัดสินใจซื้อทั่วเอเชีย ไซท์โซเชียลส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของนักช็อปยิ่งกว่าการแนะนำหรือบอกต่อจากเพื่อนซะอีก
จากการศึกษาของมาสเตอร์การ์ดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่า 52เปอร์เซ็นต์ของนักช็อปไทยจะเชื่อฟังข้อมูลจากสื่อโซเชียล ในขณะที่มีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เลือกเชื่อข้อมูลจากการบอกต่อโดยเพื่อนหรือคนรู้จัก การถ่ายทอดสดหรือไลฟ์สตรีมมิ่งจะมีการเติบโตสูงมากในปีหน้า อย่างเช่นที่จีน โกลแมนแซ็ครายงานว่าตลาดของไลฟ์สตรีมมิงแอพพลิเคชั่นจะเติบโตมีมูลค่าถึง 15 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐภายในปี 2020 เมื่อกรกฏาคมที่ผ่านมา บริษัท บิโกไลฟ์ (BigoLIVE) มีจำนวนสมาชิก 150 ล้านคน และมีจำนวนสมาชิกที่ใช้งานแอคทีฟถึง 45 ล้านคนในแต่ละเดือน เทร็นด์ที่น่าสนใจต่อมาคือ ขณะที่สังคมเมืองกำลังเติบโต จำนวนประชากรชนชั้นกลางมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขการซื้อรถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเมื่อคนมีกำลังซื้อ ปัญหาที่ตามมาคือรถติด และโครงสร้างพื้นฐานที่โตตามไม่ทัน เราจึงได้เห็นบริการที่เป็นเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) อย่าง Grab, WeChat เข้ามามีบทบาทในการสร้างนวัตกรรมด้านบริการใหม่ๆในสังคมเมือง ร่วมกับรัฐบาลในหลายๆประเทศหรืออาจจะให้บริการเองโดยตรงบนคลาวด์ ในเอเชียมีรูปแบบบริการเช่าใช้ หรือ sharing economy เกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่ อุปกรณ์กีฬา ร่ม อุปกรณ์ชารต์แบต พัดลม จักรยาน เป็นต้น
ขอนแก่นบ้านเรา ก็มีบริการเช่ารถจักรยานที่เริ่มให้บริการในมหาวิทยาลัยแล้ว ซึ่งต่อมาก็คาดว่าจะขยายไปตามสวนสาธารณะและอื่นๆต่อไป รอยเตอร์คาดว่า การเติบโตของเศรษฐกิจแบ่งปันนี้ จะเติบโตถึง 40 เปอร์เซ็นต์ในปี 2017 เองและมีมูลค่าถึง 705 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ จากการที่สังคมเมืองมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก ความแออัดของผู้คนในช่วงเวลาเร่งรีบ ปัญหารถติดเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทุกเมืองในเอเชีย เราจึงจะได้เห็นผู้คนมีพฤติกรรมที่ปรับเปลี่ยนไปตามความจำเป็น Netflix ซึ่งเป็นบริการดูหนังออนไลน์พบว่าช่วงเวลาที่คนอินเดียโหลดดูหนังมากที่สุดคือช่วงเวลาเร่งด่วน (rush hour) แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคต้องการที่จะเข้าถึงความสนุกผ่านมือถือเวลาไหนก็ได้ที่ต้องการ บ้านเราก็ไม่ได้ต่างกัน ไม่แปลกที่ระหว่างรอประชุมหรือนั่งรถบัส ระหว่างเดินทางไปไหนมาไหน จะเห็นคนเล่นเกมส์ออนไลน์ ดูหนังฟังเพลง เชคเฟสบุค แชท และอื่นๆอีกมากมายบนอินเตอร์เน็ท แน่นอน แอพมีประโยชน์มากกว่าแค่ให้ความสนุกหรือฆ่าเวลา แอพชื่อปั่นเมือง (PunMuang) ในกรุงเทพบ้านเราเอง ช่วยให้คนหลีกเลี่ยงจราจรและแนะนำทางลัดต่างๆให้นักปั่นสามารถปั่นไปสู้เป้าหมายได้เร็วขึ้น และมีแอพใหม่ๆเกิดขึ้นมากมายเพื่อช่วยให้ผู้คนใช้ชีวิตเมืองง่ายขึ้น
เทร็นด์ที่น่าสนใจอีกอย่าง คือเรื่องที่คนจะเชื่อมั่นในองค์กร ในรัฐบาลน้อยลง แต่จะหันมาพึ่งพากันเองมากขึ้น สังคมเอเชียค่อนข้างที่จะมีความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันในชุมชนอยู่แล้ว ต่อไป การตรวจสอบในเรื่องต่างๆภายในสังคมจะมีมากขึ้น อย่างเช่นการเปิดเผยแหล่งที่มาของอาหาร ลักษณะธุรกิจแบบP2P หรือระหว่างบุคคล เช่นการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคล การเริ่มศึกษาและยอมรับสกุลเงินอย่าง Bitcoin การนำเอา Blockchain มาใช้ในการสืบสาวค้นหาแหล่งที่มาของสิ่งต่างๆได้
สุดท้าย คือ คนเอเชียมีแนวโน้มในการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนเป็นคน เป็นสมาชิกครอบครัวคนหนึ่งมากขึ้น ที่สิงคโปร์คนสิงคโปร์ยินดีจ่ายค่าทำศพให้สัตว์เลี้ยงของตนเองถึง 600 ดอลล่าร์สิงคโปร์ มีการจ่ายค่าดูแลอาหารการกิน สุขภาพและอีกเยอะแยะมากมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสัตว์เลี้ยงไม่ต่างจากการดูแลคนในบ้าน บ้านเราก็ไม่ได้แพ้เลยนะคะ พึ่งเห็นน้องที่เป็นเพื่อนในเฟสจัดงานศพให้สุนัขที่เรียกว่าลูก ไปไม่นาน และไม่กี่วันก็พบน้องอีกคนประกาศขอบริจาคค่ารักษาสุนัขที่ป่วยและกำลังรักษาโดยใช้ค่ารักษาวันละหลายพันบาทไปเหมือนกัน นับวันคนจะดูแลสัตว์เลี้ยงไม่ต่างอะไรกับคนเหมือนกัน เพราะอะไรน่ะเหรอคะ เพราะสังคมที่พัฒนาเติบโตเร่งรีบ เหนื่อย โดดเดี่ยวขึ้นทุกวันรึเปล่า อย่างในสิงคโปร์เองขึ้นชื่อเรื่องจำนวนชั่วโมงทำงาน แถมทุกวันนี้การทำงานเรียกว่าเกิดขึ้นได้ 24×7 สัตว์เลี้ยงเลยกลายเป็นเพื่อนที่แสนดี รักคนเลี้ยงแบบไม่มีเงื่อนไข และได้ใจไปสุดๆเลย เราเลยเห็นสินค้าบริการใหม่ๆสำหรับการดูแล สัตว์เลี้ยงเสมือนคน เช่นโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ สปา เสื้อผ้าอาหาร งานวันเกิดไปจนงานศพกันเลยทีเดียว
ใครสนใจที่จะอ่านเพิ่มเผื่อปิ๊งไอเดียในการทำธุรกิจใหม่ๆเพื่อเปลี่ยนเทร็นด์ให้เป็นโอกาสและรายได้ก็สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซท์นี้ได้ค่ะ http://trendwatching.com/quarterly/2017-11/5-asian-trends-2018