ต้องยอมรับว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และสว. 2561 ซึ่งกำหนดกติกาในการเลือกตั้งใหม่ในหลายประเด็น โดยเฉพาะการกำหนดให้ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เป็นระบบแบ่งสรรปันส่วน ทุกคะแนนที่ประชาชนเลือกจะมีผลต่อการได้มาซึ่งส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ส.ส.ขอนแก่น ยังมี 10 คนเหมือนเดิม แต่ปัจจัยการเลือกตั้งเปลี่ยนไป เพราะมีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นหลายพรรค โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่ชัดเจนว่า จัดตั้งขึ้นมา เพื่อรองรับการกลับมาดำรงตำแหน่งใหม่อีกครั้งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งกุมกลไกอำนาจรัฐนับแต่ยึดอำนาจมาจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มานานกว่า 5 ปี ก่อนหน้านี้ พรรคพลังประชารัฐได้วางตัว “หมอเปรม” น.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีตส.ส.หลายสมัย เป็นหัวหน้าทีมในการจัดวางตัวผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐขอนแก่น แต่ภายหลังได้มีการเปลี่ยนเป็นนายเอกราช ช่างเหลา ผู้เข้ามาทำหน้าที่จัดทีมแทน และยังดูแลครอบคลุมไปยังพื้นที่ 8 จังหวัดอีสานตอนบน
นายเอกราชมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดขอนแก่น เป็นเจ้าของกิจการหมู่บ้านเมืองเอก และผู้เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลขอนแก่นยูไนเต็ด แม้จะมอบให้บุตรชายเป็นประธานสโมสรและผู้จัดการทีมก็ตาม แต่ก็เป็นที่รับรู้ว่าเขาคือ “เจ้าของตัวจริง” นายเอกราช ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ และแสดงท่าทีว่าสนใจจะก้าวสู่เส้นทางการเมือง ด้วยการเริ่มเป็นผู้บริจาคเงิน ให้กับกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดขอนแก่นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขึ้นป้ายเพื่อประชาสัมพันธ์ตนเองมาตลอด
ในการเลือกตั้งนายกอบจ.ขอนแก่น ได้มีการเจรจากับนายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิกพงษ์ นายกอบจ.ขอนแก่น เพื่อขอร่วมเป็นทีมเดียวกัน พร้อมทั้งให้นายวัฒนา ช่างเหลา บุตรชายคนโต
เข้าไปรับตำแหน่งรองนายกอบจ. ขอนแก่น รวมไปถึงการเจรจากับทีมรักพัฒนานครขอนแก่น ที่จะส่งนายพิทักษ์ชมน์ ช่างเหลา บุตรชายอีกคน เข้าไปรับตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากทีมรักพัฒนานครขอนแก่น (ขณะนี้นายพิทักษ์ชมน์เข้าไปรับตำแหน่งรองนายกฯอบจ.แทนนายวัฒนาพี่ชายที่ลาออกมาลงสมัครส.ส.เขต 2)
นายเอกราช ได้เข้ามามีบทบาทในทางการเมืองขอนแก่น ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ในฐานะผู้สนับสนุนผู้สมัครพรรคกิจสังคม ที่มีนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นหัวหน้าพรรค โดยให้การสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งในหลายเขตของขอนแก่น
ในช่วงการปี 2553 นายเอกราช ได้ถูกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น ลงนามในคำสั่งระงับการทำธุรกิจกรรมทางการเงิน เพราะถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง แต่สุดท้ายการตรวจสอบ ก็ไม่พบว่ามีความผิดอะไร?
น่าแปลกใจว่าหลังจากการรัฐประหารปี 2557 ปรากฎว่านายเอกราชกลับได้คัดเลือกให้เข้าไปเป็นสมาชิกสภาปฎิรูป ในสัดส่วนผู้แทนจังหวัดขอนแก่น ทั้งที่ภาพลักษณ์ของเขานั้นอยู่คนละขั้วกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยข่าวระบุว่าตำแหน่งดังกล่าวนั้น ผ่านคอนเน็คชั่นมาจากเมืองบุรีรัมย์
การดึงนายเอกราชให้เข้ามาอยู่พรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากแกนนำพรรคประเมินว่า ศักยภาพของน.พ.เปรมศักดิ์ไม่สามารถนำทีมสู้ศึกเลือกตั้งที่มีเดิมพันสูงครั้งนี้ได้ จำเป็นต้องมีคนที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ที่นอกจากจะช่วยตนเองได้แล้ว ยังสามารถดูแลผู้สมัครในพื้นที่ได้ด้วย คุณสมบัติดังกล่าวนี้ จึงทำให้นายเอกราชได้รับการทาบทามให้มาร่วมทีมพลังประชารัฐ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ชื่อของนายเอกราชอยู่กับภูมิใจไทย
ดังนั้นรายชื่อผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐที่ขอนแก่น นายเอกราช จึงเป็นผู้พิจารณาทั้งหมด ยกเว้นเพียง นายสมศักด์ คุณเงิน เขตเลือกตั้งที 7 เท่านั้น ที่เป็นโค้วต้ากลางของนายพินิจ จารุสมบัติ แกนนำพรรคพลังประชารัฐที่ฝากฝังมา ทำให้น.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ต้องถอยออกไปอยู่กับพรรคพลังท้องถิ่นไทย
ภาพรวมการเลือกตั้งขอนแก่นครั้งนี้ จึงเป็นเพื่อไทย ในฐานะแชมป์เก่า โดยมีผู้ท้าชิงคือ พลังประชารัฐ และภูมิใจไทยเป็นตัวสอดแทรก โดยมีพรรคชาติไทยพัฒนามีโอกาสเบียดในเขตเลือกตั้งที่ 1
ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด สนามขอนแก่น แชมป์เก่าคือพรรคเพื่อไทย โดย มีส.ส.ทั้ง 10 เขตเลือกตั้ง แม้คราวนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้สมัครหลายคน ด้วยข้อจำกัดทางการเมือง ด้วยบางคนเสียชีวิต หรือยุติบทบาทการเมือง รวมถึงภาพใหญ่กลุ่มที่มีการใช้ยุทธวิธีแยกคนออกไปลงสมัครพรรคสำรองอย่าง พรรคเพื่อชาติ พรรคเพื่อธรรม (ภายหลังยุติบทบาทไปแล้ว) รวมทั้งพรรคไทยรักษาชาติ ที่มีว่าที่ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช เป็นหัวหน้าพรรคฯ เป็นอดีต.ส.ส.ขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ 2 เป็นบุตรชายของนางระเบียบรัตน์ อดีตสว.ขอนแก่น และนายเสริมศักดิ์ อดีตรมช.มหาดไทย และอดีตรมช.ศึกษาฯ ที่มีความใกล้ชิดอย่างมากกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ในการสมัครเลือกตั้งคราวนี้ แกนนำพรรคเพื่อไทยที่เดินทางมาให้กำลังใจผู้สมัคร คือ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของนายทักษิณ ที่มีความใกล้ชิดเป็นพิเศษกับ นายนวัธ เตาะเจริญสุข อดีตส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 7 อำเภอหนองเรือ ที่เบียดชิงตำแหน่งมาจากนายธนิก มาสีพิทักษ์ แกนนำคนเสื้อแดง ที่หมายมั่นปั้นมือจะลงแทน หลังจากนายนวัธ ตกเป็นผู้ต้องหาคดีจ้างวานฆ่า นายสุชาติ โคตรทุม อดีตปลัดอบจ.ขอนแก่น แต่คดียังไม่ถึงที่สุดจึงถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธ์ กกต.จึงอนุญาตให้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้
นอกนั้นก็เป็นนายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ อดีตรมช.คมนาคม พรรคภูมิใจไทย ที่ช่วงแรกมีข่าวว่าร่วมมือกับนายเอกราช และปักหลักอยู่กับภูมิใจไทยเช่นเดิม และมีการจัดทีมผู้สมัครเรียบร้อยแล้วทว่า…ภายหลังนายประจักษ์ ได้เปลี่ยนขั้วไปอยูกับพรรคชาติไทยพัฒนา มีน.ส.กาญจนา ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรคฯ โดยนายประจักษ์ ไม่ได้ลงสมัครฯและไม่เป็นสมาชิกพรรค แต่เป็นผู้สนับสนุนโดยได้ส่งภรรยา คือ ดร.ลักษณา แกล้วกล้าหาญ ภรรยาลงสมัครรับเลือกตั้งเขต 1 แทน
ขณะที่นายเอกราช ได้ย้ายออกมาจาก “ภูมิใจไทย” เพื่อคุมทีม “พลังประชารัฐ” ดังกล่าว โดยในวันเปิดรับสมัครที่ขอนแก่น ไม่มีผู้แทนคนสำคัญของพลังประชารัฐจากส่วนกลางมาร่วม มีเพียงนายเอกราช ซึ่งภายหลังได้มีการเปิดเผยรายชื่อ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ อยู่ในบัญชีรายชื่ออันดับที่ 10 จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า นายเอกราชได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐอย่างมาก
เขตเลือกตั้งที่ 1
เขตเลือกตั้งที่ 1 แชมป์เก่า คือ เพื่อไทย “จักริน พัฒนดำรงจิตร” คราวนี้ยังสวมเสื้อค่ายเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ในช่วงหลังรัฐประหารเขาเก็บตัวเงียบ ประกาศพอแล้วการเมือง แต่สุดท้ายเมื่อปี่กลองรัว ก็ลงสมัครเช่นเดิม
ชื่อ “เพื่อไทย” เป็นต่อ และอีสานโพลไปสำรวจก็ยังยืนยันเช่นเดิม ขณะที่“พลังประชารัฐ” ส่งดร.ภพธร ชื่อเดิม “ณัฐพล แก้วขัน” อดีตส.อบ.จ.เขตเมืองขอนแก่น หลายสมัย ในทีมรักพัฒนานครขอนแก่น ทนายความ ลงประกบ โดยดร.ภพธร ได้ทำงานการเมืองและลงในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตอนหลังให้ภรรยาลงสมัครเป็น ส.อบจ.ในเขตของตนเองได้รับชัยชนะ ส่วนเขาย้ายไปลงเขตใหม่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
โดดเด่นอีกคนคือ ดร.ลักษณา แกล้วกล้าหาญ พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นภรรยาของ “ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ” หัวหน้ากลุ่มรักพัฒนานครขอนแก่น ที่ยึดครองพื้นที่เทศบาลนครขอนแก่นมายาวนาน เป็นอดีตนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ลงสมัครได้เป็นส.ส.ไทยรักไทย แต่แปรพรรคไปร่วมกับพรรคภูมิใจไทย และก้าวขึ้นเป็นรมช.คมนาคม ฐานที่มั่นเมื่อครั้งเป็น ส.ส.อยู่เขต 2 แต่คราวนี้ส่งภรรยาลงเขต 1
นอกจากนั้นก็มี “วิฑูรย์ กมลนฤเมธ” อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัขอนแก่น ลงสมัครในนามพรรครวมพลังประชาชาติไทย ในเครือข่ายกลุ่มพันธมิตรและคณะกรรมการประสานงานเพื่อการปฎิรูปประเทศไทยโดยมีสถาบันกษัติริยทรงเป็นประมุข (กปปส.) นายวิฑูรย์ มีความมุ่งมั่นที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งมานานพอสมควร แต่ก็มาลงตัวที่พรรคนี้ ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตประธานกปปส. เป็นผู้สนับสนุน
ในช่วงดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรม นายวิฑูรย์จะโดดเด่นมากในการเคลื่อนไหวให้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวที่ขอนแก่น แต่สุดท้ายก็เกิดไม่ได้ เพราะกลุ่มนักลงทุนสู้ปัญหาที่ดินที่ราคาสูงเกินไปไม่ได้
คงต้องกล่าวถึง “ประชาธิปัตย์” ในฐานะพรรคการเมืองเก่าแก่ และมีฐานแฟนคลับดั้งเดิมจำนวนมาก ไม่ว่าจะส่งใครลงสมัครเขตเลือกตั้งที่ 1 จะมีคะแนนฐานเฉลี่ยประมาณ สองหมื่นคะแนน คราวนี้ “จิตติ เชิดชู” ผู้นำชุมชนริมทางรถไฟ ที่เคยต่อสู้ให้มีการยกระดับทางรถไฟทางคู่ในเมืองขอนแก่นได้สำเร็จเป็นตัวแทน
เช่นเดียวกัน พรรคอนาคตใหม่ ที่ได้รับกระแสตอบรับอย่างกว้างขวางในเขตเมือง และคนรุ่นใหม่ โดยอีสานโพลล์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปสำรวจความคิดเห็นปรากฎว่า อนาคตใหม่ เป็นพรรคที่คนอีสานให้ความนิยมเป็น 1ใน 3 ได้แก่ เพื่อไทย อนาคตใหม่และไทยรักษาชาติ โดยเขต 1 ขอนแก่น อนาคตใหม่ ส่ง “นายฐิตินันท์ แสงนาค” ลงชิงตำแหน่ง แม้ชื่อใหม่ เป็นอดีตผู้ช่วยเอกราช ช่างเหลา ในอนุกรรมการสภาปฎิรูป ทำธุรกิจร้านขายของชำ แต่กระแสหัวหน้าพรรค “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ได้รับความนิยมไม่น้อยทีเดียวในเขตเมืองและคนุร่นใหม่
เขตเลือกตั้งที่ 2
เขตเลือกตั้งที่ 2 แชมป์เก่า “ภูมิ สาระผล” จากเพื่อไทยในปี 2554 ปัจจุบันถูกคุมขังในคดีรับจำนำข้าว เป็นความผิดในขณะดำรงตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ (วาระ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 – 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555) คราวนี้ส่ง “อรอนงค์ สาระผล” ภรรยานายภูมิ ลงสมัครแทน ชื่อคนใหม่ ไม่เคยทำงานการเมืองมาก่อน แต่พรรคนั้นทุกสำนักระบุตรงกันว่า ยังคงได้รับความนิยมเช่นเดิม
คู่แข่งถือว่าน่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะพลังประชารัฐที่ “เอกราช ช่างเหลา” เป็นหัวหน้าทีมคุม 8 จังหวัด ส่งบุตรชายคนโต “วัฒนา ช่างเหลา” รองนายกอบจ.ขอนแก่น ประธานสโมสรฟุตบอลขอนแก่นยูไนเต็ด ลงชิงตำแหน่ง หากพลังประชารัฐแพ้เขตนี้ ประเมินได้เลยว่า เขตอื่นและพื้นที่อื่น คงไม่อาจคาดหวังได้แล้ว
เขตเลือกตั้งที่ 3
เขตเลือกตั้งที่ 3 แชมป์เก่าเพื่อไทย “นายจตุพร เจริญเชื้อ” ยังคงอยู่ค่ายเดิม ขยันลงพื้นที่ และถือว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากพรรคคนหนึ่ง แม้จะไม่ใคร่ได้แสดงบทบาทในทางการเมืองมากนัก
โดยมีคู่แข่งที่พลังประชารัฐ ส่งประกบคือ “กิตติ คำแก่นคูณ” เป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมืองน้ำพอง
เขตเลือกตั้งที่ 4
เขตเลือกตั้งที่ 4 แชมป์เก่าเพื่อไทย ยังเป็นอดีตส.ส.เก่า “มุกดา พงษ์สมบัติ” โดยพลังประชารัฐส่ง “พิชิต สุรพล” ทนายความ เป็นหลานของนายณรงค์เลิศ สุรพล อดีตส.ส.ขอนแก่น พรรคกิจสังคมในอดีต เป็นนายกอบต.ศรีสุขสำราญ อ.อุบลรัตน์ ที่มาช่วยงานการเมือง นายเอกราช ลงประกบ แต่ชื่อชั้นห่างกันมาก แต่ด้วยชื่อพรรค ก็คงต้องนำมาประกบคู่กับแชมป์
เขตเลือกตั้งที่ 5
เขตเลือกตั้งที่ 5 แชมป์เก่าเพื่อไทย อดีตส.ส. “สุชาย ศรีสุรพล” เสียชีวิต พรรคสนับสนุนให้ “ภควัต ศรีสุรพล” สจ.ในพื้นที่ภูเวียง บุตรชายนายสุชาย ลงรักษาเก้าอี้เดิมให้พ่อ
โดยพลังประชารัฐส่ง “วิบูลย์ เรืองประเสริฐกุล” ส.จ.เขต อ.ภูเวียง เป็นเจ้าของกิจการรับเหมาก่อสร้างลงชิงตำแหน่ง เขตนี้น่าจะสู้กันสนุกและสูสีมาก
เขตเลือกตั้งที่ 6
เขตเลือกตั้งที่ 6 แชมป์เก่า ฉายา “ขุนฆ้อน” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ลงสนาม ตอนแรกมีข่าวลูกสาว “พลอยไพลิน” แต่ปรากฎว่ากลายเป็น “สิงหรณ ดีนาง” ทนายความคนใกล้ชิด ขณะที่พลังประชารัฐส่ง “สมพงษ์ ปู่เพ็ง” อดีตส.จ.หลายสมัย และอยู่ในทีมของ “เอกราช ช่างเหลา” มาตั้งแต่ยังไม่ย้ายมาพลังประชารัฐ
พื้นที่นี้น่าสนใจที่พรรคเพื่อชาติ ที่มีนายจตุพร พรหมพันธ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญ และถูกมองว่าเป็นพรรคสำรองของ “เพื่อไทย” ส่ง พ.ต.อ.อุดร ชานุวงษ์ อดีตผกก.สภ.บ้านไผ่ ที่ทำงานการเมืองในพื้นที่มาต่อเนื่อง เพียงเขตเดียวในจังหวัดขอนแก่น
เขตเลือกตั้งที่ 7
เขตเลือกตั้งที่ 7 แชมป์เก่าเพื่อไทย ยังคงให้ความไว้วางใจ “นวัธ เตาะเจริญสุข” อดีตส.ส.เดิม ที่มีคดีจ้างวานฆ่าอดีตปลัดอบจ. อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นอุทรณ์
ก่อนหน้านี้มีชื่อ “ธนิก มาสีพิทักษ์” แกนนำคนเสื้อแดงประกบ แต่สุดท้ายพรรคก็เลือก “นวัธ” นัยว่ามีความสนิทชิดเชื้อ กับ “พานทองแท้ ชินวัตร” เป็นพิเศษ
ในช่วงกระแสพรรคไทยรักไทย กำลังรุ่งเรือง เขาส่งภรรยาลงชิงตำแหน่งนายกอบจ.กับ นายพงษ์ศักดิ์ วานิกพงษ์ โดยมีการขึ้นป้ายระบุว่า นายพานทองแท้ ให้การสนับสนุน
ครั้งนั้นนายพงษ์พงษ์ ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช แกนนำพรรคไทยรักไทย ต้องแก้เกมด้วยการให้พรรคออกแถลงการณ์ว่าไม่เกี่ยวข้อง
พลังประชารัฐ ส่งอดีตส.ส.หลายสมัย “สมศักดิ์ คุณเงิน” ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น ลงชิงตำแหน่ง ที่จริงคู่นี้ นายสมศักดิ์กับนายนวัธถือว่า เป็นคนละบุคลิก
นายสมศักดิ์ เป็นคนสุภาพ เป็นนักกฎหมายเป็นอดีตนักกิจกรรมเป็นเลขานุการรัฐมนตรีมหาดไทย เป็นคนในพื้นที่ ไต่เต้าทางการเมืองจากสจ. ก่อนที่จะขยับเป็นส.ส. 3 สมัย เคยเป็นเลขานุการ รมช.มหาดไทย
ส่วนนายนวัธเป็นคนพื้นที่เพมาจากจังหวัดนครปฐม มาทำอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ก่อนที่ขยับมาลงสมัครสจ. ชิงตำแหน่งจากน้องชายนายสมศักดิ์ เมื่อนายสมศักดิ์ ย้ายออกจากพรรคไทยรักไทยไปอยู่เพื่อแผ่นดินพร้อมกับนายพินิจ จารุสมบัติ ในฐานะเพื่อนสนิทและเจ้านาย
นายนวัชเข้าเสียบเแทนแล้ว ก็ยึดพื้นที่เอาไว้ได้หลายสมัยด้วยกระแสความนิยมในตัวของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นคนใจร้อน และมีข่าวเรื่องการใช้ความรุนแรงบ่อยครั้ง
เทียบฟอร์มความนิยมส่วนตัวนาย สมศักดิ์ เหนือกว่า แต่จะสู้กระแสพรรคทักษิณได้หรือไม่
พื้นที่เขต 7 นี้จึงถือว่าเป็นการพิสูจน์ฝีมือหัวหน้าทีม “เอกราช ช่างเหลา” ด้วยเช่นกันว่าจะเข้ามาหนุนเสริม เพื่อยึดเก้าอี้แชมป์มาให้พลังประชารัฐได้หรือไม่
เขตเลือกตั้งที่ 8
เขตเลือกตั้งที่ 8 แชมป์เก่าเพื่อไทย “ดวงแข อรรณนพพร”ภรรยาของนาย พงษ์กร อรรณนพพร อดีตรมช.ศึกษาฯ ที่ก่อนหน้านี้เปิดตัวว่า ย้ายไปเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อธรรม ก่อนจะพรรคเพื่อธรรมจะยุติบทบาท
นายพงศ์กร ย้ายมาเพื่อไทยเช่นเดิม และเปลี่ยนตัวส่ง “น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร” ลูกสาวของตนเองลงรักษาเก้าอี้
ขณะที่พลังประชารัฐ ส่ง “คงฤทธิ์ อัศวพัฒนากูล” อดีตส.จ.หลายสมัย อดีตนายกอบจ.ขอนแก่น ลงประกบ
เขตเลือกตั้งที่ 9
เขตเลือกตั้งที่ 9 ว่าที่ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช์ แชมป์เก่า บุตรชายของนาย เสริมศักดิ์ และนางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ย้ายไปเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ ที่กำลังเป็นข่าวโด่งดัง ในการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคไทยรักษาชาติ
สำหรับเพื่อไทยเขตนี้ เปลี่ยนเป็นคนใหม่ “วันนิวัติ สมบูรณ์” แต่เป็นทีมเดิม ในฐานะลูกชายของนางรัตนาภรณ์ สมบูรณ์ เจ้าของโรงเรียนอมตวิทยา เอกชนชื่อดังในเขต อ.หนองสองห้อง น้องสาวของนางระเบียบรัตน์ ซึ่งเคยเข้ามามีบทบาทการเมืองในฐานะรองนายก.อบจ.ขอนแก่น โดย นายวันนิวัติ มีฐานะเป็นลูกพี่ลูกน้องของหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ
ที่น่าสนใจคือ “พรรคพลังประชารัฐ” ส่งผู้สมัครชื่อ “วาสนา ไชยศึก” อดีตผอ.โรงเรียนหลายแห่งในพื้นที่ โดยนายวาสนา เป็นที่รับรู้กับทั่วไปว่า เป็นมือขวาของ “พงษ์กร อรรณนพพร” ซึ่งเป็นอดีตแกนนำคนสำคัญของเพื่อไทยแต่กลับไปลงในนามพรรคพลังประชารัฐ
นอกจากนี้พรรคภูมิใจไทยยังส่งอดีตสจ.หนองสองห้อง “จารุวัชน์ ศิริวัจนพร” ลงขอแบ่งคะแนนเพื่อระบบบัญชีรายชื่อด้วย
เขตเลือกตั้งที่ 10
เขตเลือกตั้งที่ 10 แชมป์เก่าจาก เพื่อไทย “เรืองเดช สุพรรณ“ ขอบายเพราะเหตุผลคุณสมบัติการลงสมัคร เปลี่ยนตัวคนใหม่ แต่หน้าเก่า ส่ง “บัลลังก์ อรรณนพพร” น้องชายของ “พงษ์กร อรรณนพพร” อดีตส.ส.และอดีตรมช.ศึกษาฯของพรรคฯลงชิงตำแหน่ง
ขณะที่ “พลังประชารัฐ” ส่ง “เจริญ แซ่เต็ง” น้องชาย “ชิน แซ่เต็ง” อดีตสจ.ลงชิงตำแหน่ง โดยมี “สจ.แม็ค” หรือ นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ สจ.บ้านไผ่หลายสมัย และมีชื่อเสียงในฐานะผู้บริหารทีมฟุตบอลขอนแก่นเอฟซี น่าจะมีสายสัมพันธ์กับภูมิใจไทย ผ่านทางนายเนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมืองดังแห่งเมืองบุรีรัมย์
ที่น่าสนใจอีกคนหนึ่งคือ พรรคพลังท้องถิ่นไท ส่งนักการเมืองชื่อดัง “นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ” อดีตส.ส.และอดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองบ้านไผ่ ที่แม้จะไม่ได้คุมทีมพลังประชารัฐเหมือนเดิม แต่ชื่อชั้นและประสบการณ์ ถือว่า ไม่สามารถประมาทได้
เขตนี้น่าจะเบียดชิงคะแนนกันสนุก เพราะ “หมอเปรม” นั้น เชื่อได้ว่าพรรคคงอัดฉีดมาเต็มที่ เพื่อหวังแจ้งเกิดทางการเมืองของพรรค และโดยเฉพาะการกลับมาแจ้งเกิดใหม่ทางการเมืองของ “หมอเปรม” ด้วยเช่นกัน
สุดท้าย ประชาชน จะเป็นคนตัดสิน
สุดท้ายต้องรอดูว่า ผลการตัดสินใจของชาวขอนแก่น ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการเมืองไทยในอนาคตอันใกล้นี้.
อ่านบทวิเคราะห์ การเลือกตั้ง ขอนแก่น ก่อนหน้านี้ได้ที่ เปิดตัวละครเลือกตั้งขอนแก่น 4ก๊กเพื่อไทยแย่งพื้นที่ชุลมุน