สมาร์ทคน สมาร์ทเมือง รวมพลังขับเคลื่อน “ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้”

เมื่อเอ่ยถึง “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ทซิตี้  (Smart City) ” ชั่วโมงนี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เพราะนอกจากเป็นคำที่เรียกว่า “ฮิต” ติดปากของคนในแวดวงงานวางแผนการพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นกระแสการพัฒนาไปทั่วโลก ตลอดจนแพร่หลายไปยังพื้นที่ในระดับต่างๆ ทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด หรือแม้แต่ในระดับท้องถิ่นที่ใครๆ ก็ต้องการให้บ้านของตนเองถูกเรียกว่าเป็น “สมาร์ทซิตี้” บ้าง เนื่องจากสร้างแรงดึงดูดให้กับนักลงทุนเข้ามาสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับเมืองของตนเติบโตมากยิ่งขึ้น

เมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ (Smart city)  เป็นคำที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 หรือเมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีมาแล้ว กล่าวกันว่าเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมือง ให้มีความสะดวกสบาย หลายประเทศทั่วโลกต้องการสร้างเมืองของตนให้มีความอัจฉริยะ เพื่อรองรับกระบวนการการกลายเป็นเมือง (Urbanization) ที่กำลังจะเกิดขึ้น มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนแก้ไขปัญหาเมือง ส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมภายในเมืองให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน

สำหรับประเทศไทยนั้น ได้รับเอากระแสแนวความคิดดังกล่าวเข้ามาเมื่อไม่นานมานี้ มีการนำไปปรับใช้เป็นนโยบายในระดับชาติ ส่งต่อในระดับจังหวัด เพื่อนำไปต่อยอดปฏิบัติการสู่โครงการพัฒนาระดับประเทศในแขนงต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลนำการพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแล ดังนั้นกระแสการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

‘รวมพลังคนสมาร์ท’ มุ่งสู่ ‘ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้’

จากนโยบายจังหวัด นำไปสู่แผนแม่บทการพัฒนาเมืองขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ 2029 และถูกยกให้เป็นเมืองต้นแบบสมาร์ทซิตี้ แต่แก่นแท้ของความเป็นขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ หรือขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ มิใช่การพัฒนาเมืองด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพียงแค่นั้น แท้จริงแล้วลักษณะพิเศษของคนขอนแก่นต่างหาก ที่ทำให้เมืองขอนแก่นมีความสมาร์ท ไม่เหมือนเมืองอื่นๆ จากจุดเริ่มต้นของการปลุกจิตสำนึกของคนเมืองขอนแก่นเอง ที่ต้องการเห็นเมืองมีทิศทางการเติบโตไปได้ด้วยดี ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้อยู่ดีมีสุข เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นระว่างกลุ่มคนที่มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาเมืองขอนแก่น จากวงแคบ สู่วงกว้าง จากเครือข่ายเล็กๆ สู่โครงข่ายที่แผ่ขยายและเข้มแข็ง จนเกิดเป็นปรากฏการณ์แห่งความร่วมมือของหลายภาคส่วน ที่ร่วมกันวางแผนพัฒนาเมืองอย่างที่เรียกว่า “การวางแผนแบบรวมพลัง” (Collaborative Planning)[1] โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองที่ไม่รองบประมาณจากส่วนกลาง โดยพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ที่อาศัยความร่วมมือในการพัฒนาเมืองระหว่างภาครัฐกับภาครัฐ (Public-Public Partnership : PuP) ประกอบไปด้วยเทศบาลทั้ง 5 เทศบาล โดยอยู่ในรูปแบบของบริษัทจำกัด เพื่อการบริหารจัดการเมือง ในพื้นที่ความรับผิดชอบและเกี่ยวเนื่องกัน และดำเนินกิจการร่วมกันแบบนอกเขต ร่วมลงทุนในการประกอบกิจการขนส่งสาธารณะ จัดตั้งเป็นบริษัทขอนแก่นทรานซิท ซิสเต็ม หรือ KKTS  ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มภาคเอกชนที่พยายามผลักดันออกแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ในนามของบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง เกิดเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนหรือที่เรียกว่า (Private-Public Partnership : PPP)  เป็นรูปแบบการพัฒนาเมืองที่เป็นมิติใหม่ของการบริหารจัดการและพัฒนาเมือง  เป็นจุดเริ่มต้นของการวางแผนพัฒนาเมืองในลักษณะพิเศษ จนกระทั่งได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “ขอนแก่นโมเดล” ให้กับจังหวัดอื่นๆ นำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อการพัฒนาเมือง ที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดเป็นแห่งแรกและท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการเอง

การขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง ที่มีคนสมาร์ทพยายามเปลี่ยนแนวความคิดการพัฒนาเมืองในรูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่การรอคอยงบประมาณจากภาครัฐส่วนกลาง หากแต่จะสร้างงบประมาณจากท้องถิ่นขึ้นเอง  โดยการมีระบบขนส่งสาธารณะขึ้นเพื่อสร้างรายได้ให้กับเมือง จึงเกิดเป็นภาพแห่งความร่วมมือของทุกฝ่ายเกิดขึ้น ส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมพัฒนาเมืองขอนแก่น เกิดการตื่นตัว แข่งขันกันเองระหว่างเมืองอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่ลักษณะพิเศษของเมืองขอนแก่นคือ ถึงแม้ว่ากลุ่มต่างๆ ในเมืองขอนแก่นจะมีความแตกต่างกันในสายการทำงาน หรือสถานภาพที่แตกต่างกัน แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องร่วมมือกันในการพัฒนาเมือง ก็สามารถพูดคุย และเข้าใจในประเด็นต่างๆ เนื่องจากทุกกลุ่มมีเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการให้เมืองขอนแก่นเกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยกำลังการขับเคลื่อนของคนสมาร์ทของขอนแก่นที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง

บทสรุป

จะเห็นได้ว่า “ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้” หรือ “ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ” ที่แฝงนัยมากกว่าการเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีขับเคลื่อนเมือง โดยคนขอนแก่นได้รวมพลังกันผลักดัน และขับเคลื่อนเมืองให้เกิดความเป็นอัจฉริยะ ความเป็น “สมาร์ท” แห่งเมืองขอนแก่น มิใช่แค่การมีแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเมืองขอนแก่นให้เป็นสมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะเพียงเท่านั้น หากอยู่ที่คนขอนแก่น พยายามทำตนให้เป็น “คนสมาร์ท” อยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เมืองขอนแก่น เติบโตเป็น “เมืองสมาร์ท” ที่มีความต่างและยากต่อการหาเมืองใดมาเทียบเคียงได้

 

โดย:อาจารย์ขวัญชนก  อำภา อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

[1] สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ประชุมพิจารณา “Collaborative planning”  โดยใช้คำไทยว่า “การวางแผนแบบรวมพลัง” หมายถึง  การวางแผนโดยอาศัยความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องซึ่งมีทรัพยากรและความสามารถที่แตกต่างกัน  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน 

 

แสดงความคิดเห็น